ความเห็น: 0
การควบคุมระดับไขมันในเลือด
ในวันนี้ยักษ์สวยก็มีความรู้เกี่ยวกับการควบคุมระดับไขมันในเลือดมาฝากกันนะค่ะ
1. การควบคุมอาหาร การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เป็นรากฐานสำคัญของการป้องกัน และรักษาภาวะไขมันสูงในเลือด
1.1 หลีกเลี่ยงอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ติดมัน เครื่องในสัตว์ หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไส้กรอก กุนเชียง แฮม เบคอน หมูยอ แคบหมู อาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้งชนิดต่าง ๆ หอยนางรมปลาหมึกสด ปลาหมึกแห้ง ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ครีม เนยแข็ง ขนมหวานที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล และกะทิหรือมะพร้าว ขนมที่มีไขมันแฝงอยู่ เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมกินเล่น ขนมเบเกอรี่ เช่น โดนัท เค้กหน้าครีม คุกกี้ ไอศกรีม
1.2 หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เช่น ไก่ชุปแป้งทอด กล้วยทอด ปาท่องโก๋ อาหารพวกแกงกะทิ หลนกะทิต่าง ๆ
1.3 หลีกเลี่ยงน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะพร้าว และไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น เนย มันหมู มันวัว มันไก่ เพราะน้ำมันเหล่านี้มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ให้เลือกใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารแทนน้ำมันสัตว์
1.4 พยายามปรุงอาหารโดยใช้ต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนการทอด หรือผัด เลือกอาหารประเภทต้ม ต้มยำ แกงส้ม ยำ (ต้องไม่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ) ใช้ไขมันจากพืชในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำ ประกอบอาหาร น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งเป็นน้ำมันที่จะช่วยลดโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ได้
1.5 เลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย แทนนมที่มีไขมันเต็มส่วน
1.6 เลือกรับประทานเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยแยกเอาไขมันและหนังออกให้หมด ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวที่ไม่ขัดสีมาก ผักสดหลากหลายสีชนิดต่าง ๆ วันละ 4-5 ถ้วยตวง พืชสมุนไพร เครื่องเทศ ธัญพืชไม่ขัดสี วันละ 3 ถ้วยตวง ผลไม้ไม่หวานหลายชนิด วันละ4 ผล (ขนาดกลาง) เช่น ฝรั่ง ส้ม แอบเปิ้ล ชมพู่ กล้วย ฯลฯ
1.7 บริโภคปลาทะเล สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง (ประมาณ 240 กรัมสุก)เพื่อเป็นการลดเนื้อสัตว์ใหญ่ ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ปลาทะเลมีน้ำมันปลา หรือกรดโอเมก้า 3 ช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ลดความดันโลหิต และลดไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ ข้อแนะนำในการกินปลาคือ ไม่ควรทอด เพราะจะสูญเสียน้ำมันปลาไปกับการทอด ปลาทะเลที่มีโอเมก้า3สูง เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลากะพง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน
2. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล และเพิ่มระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล
3. การใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด ในกรณีที่การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ไม่สามารถลดระดับไขมันในเลือดถึงระดับที่ต้องการ จำเป็นต้องพิจารณาการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นผู้สั่งการ และติดตามการรักษาต่อไป
ขอขอบคุณข้อความดีๆจาก : กลุ่มงานโภชนวิทยา โรงพยาบาลรามวิถี
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ความสัมพันธ์ของอาหารกับการเปลี่ย...
- ใหม่กว่า » ประสบการณ์กินน้ำยารีดผ้าเรียบ
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้