ความเห็น: 0
การทบทวนวรรณกรรมกับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ
ถ้าการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ คือ อีกหนึ่งเป้าหมายในการทำวิจัยของการทำวิจัย การทบทวนวรรณกรรมเพื่อค้นหาขอบฟ้าองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ ก็น่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นักวิจัยอย่างเราๆ ท่านๆ น่าจะต้องทำ
สมมุติฐานเบื้องต้นของผม คือ ขอบฟ้าองค์ความรู้ไทยและนานาชาติน่าจะมี gap อยู่พอสมควรครับ ถ้าเรากำหนด arena ที่ชัดเจนว่าเราจะ go inter เราก็น่าจะกำหนดขอบเขตและทิศทางการทบทวนวรรณกรรมที่สอดคล้องต้องกันกับเป้าหมายข้างต้น ไม่ใช่ต้องการ go inter แต่วรรณกรรมที่ทบทวนยังเป็นวรรณกรรมในบริบท ไทยๆ
ประสบการณ์จากการเป็นวิทยากรโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำต้นฉบับบทความวิจัยระดับนานาชาติ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้กับหลายๆ ที่ พบว่าปัญหาหลักประการหนึ่งที่ทำให้นักวิจัยที่มีเป้าหมายในการตีพิมพ์บทความวิจัยในระดับนานาชาติไปไม่ถึงเป้าหมาย คือ การทบทวนวรรณกรรม ที่ยังไปไม่ถึงระดับนานาชาติ
บางวารสาร อาทิ International Journal of Management Reviews ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า วารสารนี้เป็นวารสารระดับนานาชาติ ดังนั้น ที่มาของข้อมูลในการทบทวนวรรณกรรม (ซึ่งสามารถดูได้จากรายการอ้างอิง) ต้องเป็นวรรณกรรมระดับนานาชาติ ไม่ใช่วรรณกรรมที่มีแหล่งที่มาจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
ปัญหาโดยส่วนใหญ่ของนักวิจัยไทยเราอาจเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ชำนิชำนาญภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลในการสื่อสารและการตีพิมพ์ผลงานในวารสารระดับนานาชาติ ทำให้นักวิจัย “เลือก” ที่จะทบทวนวรรณกรรมเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งงานที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยมีข้อจำกัดในแง่ของขอบเขตองค์ความรู้ ที่จำกัดอยู่เฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แต่การตีพิมพ์บทความในระดับนานาชาตินั้น เป็นบทความที่น่าจะมีเป้าหมายในการสร้างสมองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ ดังนั้น การทบทวนวรรณกรรมในฐานะเป็นการทบทวนองค์ความรู้ที่ผ่านมาเพื่อต่อยอดองค์ความรู้สู่อนาคต จึงน่าจะต้องมีขอบเขตในระดับนานาชาติ
กล่าวโดยสรุป คือ ถ้าคิดจะตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ การทบทวนวรรณกรรม ก็ต้องเป็นการทบทวนในระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากที่นักวิจัยบางคนทบทวนวรรณกรรมเฉพาะภาษาไทย นั่นคือ อาจทำให้นักวิจัยท่านนั้นกำลังผลิตงานวิจัยล้าหลัง ทั้งนี้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า "ขอบฟ้าขององค์ความรู้ในระดับประเทศ (ไทย) กับระดับนานาชาติอาจจะมีความเลื่อมล้ำกัน" กล่าวคือ ขอบฟ้าองค์ความรู้ไทยอาจก้าวไกลไปไม่ทันขอบฟ้าองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ ทำให้งานวิจัยของนักวิจัยไทยบางส่วนจึงเป็นงานประเภท “ล้าสมัย” ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำ
ครับ…ถ้าเป้าหมายการตีพิมพ์ชัดเจนตั้งแต่ต้น การกำหนดขอบเขตและทิศทางการทบทวนวรรณกรรมให้เหมาะสมก็จะช่วยได้เยอะครับ และถึงแม้เราจะไม่ได้ตั้งใจจะตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติ แต่การทบทวนวรรณกรรมระดับนานาชาติก็น่าจะทำให้เราเข้าใกล้ความหมายของการวิจัยได้มากกว่าเดิม
"In the broadest sense of the word, the definition of research includes any gathering of data, information and facts for the advancement of knowledge.
Source: http://en.wikipedia.org/wiki/Research#cite_note-Shuttleworth-5
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « Responding to reviewer comments ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้