ความเห็น: 0
ยูเนสโกและโออีซีดีมองการศึกษาไทย
วันจันทร์ที่ผ่านมาผมอ่านเจอบทความดังชื่อข้างบทในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่เขียนโดยคุณนิติ นวรัตน์
อ่านแล้วก็คล้อยตามการวิเคราะห์ของเขา และตามประสบการณ์ส่วนหนึ่งของผมก็พบว่าน่าจะเป็นจริงตามที่เขาวิเคราะห์ เช่น
ยูเนสโกและโออีซีดีบอกว่า ข้อสอบมาตรฐานระดับชาติของไทยยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ อันนี้เป็นผลลบต่อการศึกษา จึงอยากให้ศึกษาการทดสอบมาตรฐานระดับสากล เช่น PISA ที่เป็นการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ เพื่อนำมาพัฒนาการประเมินผลมาตรฐานระดับชาติของไทยให้เป็นสากล ครูผู้สอนเองก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประเมินผล ยังออกข้อสอบตามใจครู ไม่สอดคล้องกับการประเมิน ไม่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงของนักเรียน
ผมนั้นเข้าไปอ่านข้อสอบ PISA มาแล้วเมื่อ 2 เดือนก่อน และได้ลองทำข้อสอบดูพบว่าโจทย์ที่ถามนั้นออกไปในแนวที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ สำหรับผู้ที่สนใจลองเข้าไปที่จากแหล่งนี้นะครับ http://pisathailand.ipst.ac.th/?p=132
การออกข้อสอบที่ยากไปนั้นทำร้ายเด็ก ทำให้เด็กเกลียดหรือกลัววิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่น่าสนใจและสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เราคงต้องทบทวนตัวเราเองบ้างว่า เราได้สร้างผลกระทบทางลบนี้อย่างไร
ตัวอย่างข้อสอบ PAT3 ข้างบนคน post บอกว่าใช้เวลาคิดครึ่งชั่วโมงแล้ว ยังได้คำตอบที่ผิดอีกด้วย ซึ่งคำตอบที่น่าจะถูกคือ ข. และ ง. บริสุทธิ์ (ค. โกหกว่า ข. เป็นโจร)
ข้อสอบข้อนี้ตอนผมเห็นวูบแรกก็บอกตัวเองว่าคงจะคิดได้น่ะ แต่ใช้เวลาเท่าใดไม่รู้? และนี่คือข้อสอบที่ผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้ทดสอบเพราะใช้เวลานานไป
คุณนิติ ยังให้ความเห็นอีกว่า
ผมได้ยินท่านผู้ใหญ่คุยกันว่าเมืองไทยเปลี่ยนโน่นปรับนี่มากเสียจนครูตาม ไม่ทัน เดี๋ยวมี ม.ศ.5 เดี๋ยวมี ม.6 เดี๋ยวมี GAT มี PAT มีสอบตรง มีแอดมิชชั่นกลาง มี กสพท. มี O-net มี LAS มีอะไรอีกบานเบอะเยอะแยะ ปรับไปเปลี่ยนมาจนครูก็ยังจำไม่ได้ แล้วจะไปพัฒนาตัวเองยังไง มุ่งมั่นพัฒนาไปทาง A เอ้าปีหน้าเปลี่ยนเป็น B อีกแล้ว พอครูหันไปพัฒนาทาง B รัฐมนตรีศึกษาคนใหม่มา สั่งให้เอาแบบ C อีกแล้ว
ครูคนไหนที่อยากจะเด่นก็ต้องหันไปทางพิธีกรรมสัพเพเหระ เรื่องวิชาการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พัฒนาไม่ทัน ก็หันไปยึดเอาพิธีกรรมหน้าเสาธงเป็นสรณะ ครูก็บ่นไป นักเรียนก็ยืนตากแดดไป แทนที่จะค้นคว้าหาวิธีการสอนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ครูกลับพกแว่นขยายเที่ยวส่องดูถุงเท้าเด็ก ครูคนไหนเก็บถุงเท้าสั้นได้มาก ครูคนนั้นเก่ง ครูเก่งต้องไถหัวเด็ก ไปเล็มผมซอย คอยแต่จะลงโทษนักเรียน บางโรงเรียนห้ามนักเรียนหญิงผูกโบสีอื่น ต้องเป็นสีน้ำเงิน สีดำ และสีขาวเท่านั้น ก็อยากจะเรียนนะครับ ถ้าผูกโบสามสีนี่แล้วทำให้นักเรียนฉลาด ป่านนี้ก็คงผูกโบเพื่อให้ฉลาดกันทั้งโลกไปแล้ว
ข้อนี้ก็คล้าย ๆ กับการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนะครับ ให้กรอกข้อมูลที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปประเมินเพื่อใช้งานอย่างไรเลย? (ข้อมูลมหาศาลมาก)
ที่ผมคิดว่าทำลายการศึกษาไทยมากที่สุดก็คือ ‘สอบซ่อม’ ทำให้เด็กไม่สนใจในการเรียน ทุกประเทศมีมาตรฐานวัดความรู้ ได้เป็นได้ ตกเป็นตก
ประเด็นสุดท้ายนี้ ผมเห็นด้วยคือการให้เกรด 0 และ ร ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้เกรดแบบเอาให้พ้นตัวไป ซึ่งไม่เกิดการเรียนรู้และพัฒนาของตัวนักเรียนแต่อย่างใด ท้ายที่สุดเราจะได้นักเรียนที่มีวุฒิบัตรแต่ไม่มีความรู้ที่สอดคล้องกับวุฒิบัตรนั้น และเราสนับสนุนความคิดที่"ไม่ต้องมุ่งมั่นพยายามก็สามารถได้ในสิ่งที่ต้องการ"
แถมอีกนิดด้วย สิ่งเล็ก ๆ ที่สืบเนื่องไปสู่หายนะของการเสพติดค่านิยมที่ไม่เหมาะสม จาก http://pumalone.blogspot.com/2014/03/blog-post_17.html
เริ่มจากตะเกียบงาช้าง
กษัตริย์โจ้วได้ทรงรับสั่งให้หาคนมาทำตะเกียบงาช้างสำหรับพระองค์ จี้จื่อเห็นเช่นนั้นเกิดรู้สึกวิตกมาก เขาคิดว่า เมื่อคนเรามีตะเกียบงาช้างแล้ว ถ้วยชามกระเบื้องทั้งปวงก็จะไม่เหมาะที่จะใส่ของกิน จักต้องมีภาชนะจานชามที่ทำด้วยหยกอันสวยงามมาเป็นของคู่กัน เมื่อมีชามหยกและตะเกียบงาช้างแล้ว ของที่อยู่ในถ้วยชามจะเป็นข้าวฟ่างพืชผักธรรมดาย่อมไม่ได้ อาหารทะเลที่หายาก เมื่อได้รับประทานหางช้าง ลูกเสือดาว ก็จะสวมเสื้อผ้าเนื้อหยาบๆ อยู่กระต๊อบไม่ได้ ตรงกันข้ามจะต้องสวมเสื้อผ้าราคาแพงอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ความใคร่ในการเสพสุขก็ย่อมจะพองตัวขยายออกไปอย่างไม่มีขอบ เขตสิ้นสุด ซึ่งจะต้องเอาหยดเหงื่อหยาดเลือดของประชาราษฏร์มาสนองตัณหาของตน บ้านเมืองก็จักใกล้ความวิบัติเข้าไปทุกที
เนื่องด้วยกษัตริย์โจ้วทรงเสพสุขสำราญรมย์อย่างหาขอบเขตมิได้ ในที่สุดบ้านเมืองก็ล่มจม ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวกันว่า ผู้ทรงปัญญานั้นควรพิจารณาเห็นเรื่องเล็กๆ ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ จากเหตุเบื้องต้นคาดคิดถึงผลในบั้นปลาย
บันทึกใน " หานเฟยจื่อ "
พฤติกรรมของมนุษย์เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องราวในอดีตได้เช่นกัน
ผม..เอง (แมว 60+)
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « Channel Japan
- ใหม่กว่า » New Normal
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้