ความเห็น: 5
สถานะของพนักงานมหาวิทยาลัย
มีประเด็นเรื่องสถานะของพนักงานมหาวิทยาลัย ในช่วงการเปลี่ยนผ่านมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ที่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่พนักงานมหาวิทยาลัยเดิม เมื่อเปลี่ยนโอนมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ภายใต้ พรบ.สงขลานครินทร์ ปี 2559 ว่าจะเสียสิทธิ์สวัสดิการใด หรือเสียอายุการทำงานที่ผ่านมาหรือไม่
มี 2 ประเด็นครับ ที่จริงๆแล้วไม่เกี่ยวกัน แต่ถูกนำมาอธิบายผูกโยงให้เกี่ยวกัน ก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันและกังวลกันมาก นั่นคือ เรื่องการทำสัญญาจ้างงานใหม่ของพนักงานมหาวิทยาลัย กับ เรื่องเงินชดเชย ขออธิบายดังนี้ครับ
1) เรื่องสัญญาจ้าง ใหม่ที่ขอให้พนักงานมหาวิทยาลัยทำครับ จริงๆแล้ว ตาม พรบ.สงขลานครินทร์ 2559 ระบุชัดเจนว่าให้โอนพนักงานมหาวิทยาลัยภายใต้ พรบ.เก่า มาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยภายใต้ พรบ.ใหม่ ทุกคนเข้าใจครับ ประเด็นคือว่า แล้วต้องมีการทำสัญญาจ้างใหม่หรือไม่ ตรงนี้เห็นกันสองทางได้ครับ มีคนเห็นว่าไม่ต้องทำ และมีคนที่เห็นว่าควรทำ สรุปเราขอให้ทำสัญญาจ้างขึ้นใหม่ครับ ทั้งนี้เพื่อให้
- พนักงานทุกท่านแน่ใจว่า ท่านมีสัญญาจ้างงาน "จนถึงเกษียณ" อยู่ในมือครับ เพราะสัญญาจ้างงานเดิมที่ทุกท่านมีจะหมดอายุไปหมด ในอนาคตเกิดมีปัญหา เรื่องการจ้างงานเกิดขึ้น เกิดมีใครจะเลิกจ้างท่าน ก็จะเป็นปัญหา ต้องมาพิสูจน์กันว่า ใครเป็นพนักงานหรือไม่ มีหลักฐานอะไรที่จะยืนยัน (ภายใต้ พรบ.เดิม ทั่วไปแล้วให้ต่อสัญญาจ้างทำได้คราวละไม่เกิน 5 ปี แต่ข้อบังคับใหม่ เราเสนอให้ทำครั้งเดียวถึงเกษียณอายุเลย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบุคคลากรของเรา)
- ในการทำธุรกรรมต่างๆ พนักงานมหาวิทยาลัยอาจต้องใช้สัญญาจ้างงานประกอบครับ เช่นการกู้เงินธนาคาร สหกรณ์ ทำพาสปอร์ต ฯลฯ ที่ผ่านมาพนักงานมหาวิทยาลัยของเราต้องแนบสัญญาจ้างงานไปด้วย ถ้าไม่มีสัญญา อาจทำให้มีความไม่สะดวกในการทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ และสัญญาใหม่ของเราจะดีกว่าเดิมด้วยครับ คือได้ถึงเกษียณ
วัตถุประสงค์ของการทำสัญญาจ้างใหม่เป็นอย่างนี้ครับ ไม่มีจุดมุ่งหมายจะหมกเม็ด เพื่อตัดสิทธิ์พนักงานเลยครับ สิทธิ์ สวัสดิการ benefits ต่างๆ อายุงาน สิทธิ์ที่เคยมีมานับต่อเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำงานมาเกิน 2 ปี สามารถให้หักเงินสะสมได้ถึง 4% มหาวิทยาลัยสมทบ 4% ทำงานเกิน 5 ปี สมทบได้ถึง 5% ก็นับต่อกันไปเหมือนเดิมครับ ไม่ได้ให้ไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรื่องสิทธิ์เดิมที่มี "ทุกเรื่อง" มีเหมือนเดิมและนับต่อไปเหมือนเดิมครับ
2) เรื่องเงินชดเชย ผมคิดว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นหลัก ที่พยายามเคลื่อนไหวคัดค้านกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่เกิดขึ้นตามพรบ.2559 (มีผลบังคับใช้ 21 กรกฎาคม 2559) และมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นตามข้อบังคับการบริหารบุคคลฯ ปี 2559 (ประกาศใช้ 29 กันยายน 2559)
ขออธิบายโดยสังเขปครับ เงินชดเชยเป็นเงินก้อนที่พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับเมื่อเกษียณอายุ หรือเมื่อลาออกตอนอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป (ลาออกก่อน อายุครบ 55 ปี ไม่ได้ครับ) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ ถ้าวันที่เกษียณหรือลาออก ดูแล้วว่า ท่านนั้น ได้ปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 120 วัน จะได้เงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย 1 เดือน, ปฏิบัติงานครบ 1 ปี ได้เงินชดเชย 3 เดือน, ครบ 3 ปี ได้ 6 เดือน, ครบ 6 ปี ได้ 8 เดือน, ครบ 10 ปี ได้ 10 เดือน (กรุณาดูข้อบังคับบุคคลฯ ปี 59 ข้อ 42)
ปัญหาจริงๆอยู่ตรงนี้ครับ ว่าจะเริ่มต้นนับวันที่หนึ่ง เมื่อไหร่ ?
"มหาวิทยาลัยเห็นว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหม่ สิทธิ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นตาม พรบ.ปี 2559 ก็ควรเริ่มนับวันที่หนึ่ง เมื่อ พรบ.ปี 2559 ประกาศใช้ คือ 21 กรกฎาคม 2559 และนับอย่างนี้ เฉพาะเรื่องนี้ครับ"
เราสอบถามผู้รู้เรื่องกฎหมาย เราตรวจสอบการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยอื่นๆที่ออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯก่อนเรา ก็มีความเห็นสอดคล้องกันครับ บางมหาวิทยาลัยนับหนึ่ง วันที่ข้อบังคับบุคคลฯประกาศใช้ด้วยซ้ำไป แต่เราขอนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ พรบ. 2559 มีผลบังคับใช้
ซึ่งเรื่องนี้ มีผู้รู้กฏหมายบางท่านเห็นต่าง บอกว่า ควรนับหนึ่งย้อนหลังไปก่อนที่ พรบ. 2559 ประกาศใช้ ให้นับหนึ่งวันที่เป็นพนักงานวันแรกโน่นเลย - แต่เราไม่เห็นด้วยครับ เพราะพรบ.เดิมไม่มีเรื่องเงินชดเชย การทำสัญญาจ้างงานเดิมก็ไม่มีเรื่องนี้ แต่เงินชดเชยเป็นเรื่องใหม่ใน พรบ.2559 จึงควรมีผลบังคับใช้ เมื่อ พรบ.2559 มีผลบังคับใช้
มีคำถามว่า ถ้าเรานับหนึ่งอย่างที่เราประกาศ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับพนักงานมหาวิทยาลัย จะทำให้คนส่วนใหญ่เสียสิทธิ์อย่างที่ประกาศชักชวนกันจริงหรือไม่
คำตอบคือไม่ครับ ไม่มีผลกระทบใดๆเลย กับพนักงานมหาวิทยาลัยเดิมแทบทุกคน พนักงานมหาวิทยาลัยที่เรามี 3 พันกว่าคน เมื่อท่านเกษียณอายุที่ ม.อ. เกือบทุกท่านจะได้รับเงินชดเชย เป็น 10 เท่าเงินเดือนสุดท้ายครับ เพราะท่านยังมีอายุการทำงานเหลืออยู่เกิน 10ปีครับ จะมีอยู่ 66 ท่าน ที่มาเป็นพนักงานฯตอนอายุมากแล้ว เมื่อเกษียณท่าน จะไม่ถึง 10 ปี อาจได้ 8 เท่า เงินเดือน ได้ไม่ถึง 10 เท่า
อย่างไรก็ตาม พนักงานมหาวิทยาลัยของเราหลายท่าน ยื่นข้อร้องเรียนถึงคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ เพื่อให้พิจารณา 2 เรื่องนี้ เคารพสิทธิ์ของท่านครับ และเมื่อคณะกรรมการฯมีข้อวินิจฉัยอย่างไรก็น้อมรับครับ ซึ่งตามข้อร้องเรียนคือ ไม่ให้ทำสัญญาใหม่ และให้นับวันที่หนึ่งเรื่องเงินชดเชยย้อนหลังไปก่อนวันที่ พรบ.2559 ประกาศใช้
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « update การเปลี่ยนสถานภาพข้าราชกา...
- ใหม่กว่า » เพชร..พราวพรายพร่างตา (คัดเลือกบ...
15 ธันวาคม 2559 00:58
#105761
คำสำคัญใส่ได้หลายคำนะคะ
เรื่องที่เกี่ยวกับ ม.ในกำกับ น่าจะติด tag ไว้ว่า "ม.ในกำกับ" ทุกบันทึกเพื่อง่ายแก่การค้นหาค่ะ
(Boss ขยันเขียน)