comment: 0
การป้องกันและรักษา(หน้ากรีด)ยางพาราเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนชุก ตอนที่ 5
ต่อจากตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3, และตอนที่ 4 ซึ่ง Marky ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสวนยางพาราในช่วงหน้าฝน และโรคต่างๆที่มักระบาดและสร้างความเสียหายในช่วงหน้าฝนไปแล้วนั้น เนื่องจากช่วงฝนตกชุกทำให้สวนยางมีความชื้นสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสาเหตุทั้งหลาย ตอนนี้เลยมาต่อกันที่โรคที่มักเกิดขึ้นกับสวนยางในช่วงหน้าฝนกันต่อ ฝากบอกพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้นำไปปฏิบัติด้วยค่ะ เพื่อจะได้ช่วยลดผลกระทบและผลเสียที่จะเกิดกับสวนยาง ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสวนยางเป็นระยะเวลายาวนานได้ค่ะ
โรครากขาวยางพารา (White root disease)
เชื้อราโรครากขาวสามารถเข้าทำลายรากยางพาราได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ในระยะเริ่มแรกจะไม่เห็นลักษณะผิดปกติของต้นยางพาราส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน เมื่อส่วนรากถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ จึงแสดงอาการใบเหลืองและใบร่วง สำหรับต้นยางเล็กที่เป็นโรค พุ่มใบทั้งหมดจะมีสีเหลืองผิดกติ ถ้าเป็นต้นยางใหญ่ พุ่มใบบางส่วนจะดูเสมือนว่าแก่จัดและเหลือง ซึ่งจะแตกต่างกับสีเขียวเข้มของพุ่มใบต้นยางที่สมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด
สาเหตุของโรครากขาว
เกิดจากเชื้อรา Rigidoporus lignosus (Klotzsch) imazeki
ลักษณะอาการของโรครากขาว
เมื่อระบบรากถูกทำลายมากขึ้น จะแสดงอาการให้เห็นที่ทรงพุ่ม ซึ่งเป็นระยะที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ บริเวณรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะปรากฏกลุ่มเส้นใยสีขาวเจริญแตกสาขาปกคลุม และเกาะติดแน่นกับผิวราก เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคในระยะแรกจะแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด ในระยะรุนแรงจะกลายเป็นสีครีม ถ้าอยู่ในที่ชื้นแฉะจะอ่อนนิ่ม ดอกเห็นมีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวหรือซ้อนกันเป็นชั้นๆ ผิวด้านบนเป็นสีเหลืองส้ม โดยมีสีเข้มอ่อนเรียงสลับกันเป็นวง ผิวด้านล่างเป็นสีส้มแดงหรือสีน้ำตาล ขอบดอกเห็ดเป็นสีขาว
การแพร่ระบาดของโรครากขาว
เชื้อราเจริญเติบโตและระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน อาการศมีความชื้นสูง และสามารถแพร่กระจายได้ 2 ทาง คือ
- โดยการสัมผัสกันระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากจากต้นปกติ ทำให้เชื้อเจริญลุกลามต่อไป
- โดยสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลม ติดไปกับขาแมลง หรือลอยไปตามน้ำ แล้วไปตกบนบาดแผลของตอยางใหม่ เมื่อมีความชื้นเพียงพอจะเจริญลุกลามไปยังระบบรากกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคแหล่งใหม่ต่อไป
พืชอาศัยของเชื้อโรครากขาว
ทุเรียน ขนุน จำปาดะ มังคุด มะพร้าว ไผ่ ส้ม โกโก้ ชา กาแฟ เนียงนก พริกไทย พริกขี้หนู น้อยหน่า มันสำปะหลัง สะเดาบ้าน สะเดาเทียม ทัง มะเขือเปราะ กระทกรก มันเทศ น้อยหน่า ลองกอง
การป้องกันกำจัดโรครากขาว
- เตรียมพื้นที่ปลูกให้ปลอดโรค โดยการขุดทำลายตอยางเก่า ซึ่งเป็นแหล่งสะสมโรคออกให้หมด
- ในแหล่งที่มีโรคระบาด หลังการเตรียมดินควรปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วเพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชและจุลินทรีย์ในดินบางชนิดที่เป็นพิษต่อเชื้อราสาเหตุโรคราก
- หลังจากปลูกยางพาราไปแล้ว 1 ปี ควรตรวจค้นหาต้นยางพาราที่เป็นโรครากเป็นประจำ เมื่อพบต้นเป็นโรค ควรขุดทำลายและรักษาต้นข้างเคียงโดยการใช้สารเคมี
- ต้นยางพาราที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ควรขุดคูล้อมบริเวณต้นเป็นโรค (ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. ) เพื่อกั้นระหว่างต้นที่เป็นโรคและต้นปกติ ไม่ให้รากสัมผัสกัน
- ไม่ควรปลูกพืชร่วมยาง หรือพืชแซมยางที่เป็นพืชอาศัยในพื้นที่ที่เป็นโรคราก
- ใช้สารเคมีสำหรับรักษาต้นที่เป็นโรคเพียงเล็กน้อย และใช้กับต้นยางพาราข้างเคียงเพื่อป้องกันโรค โดยขุดร่องเล็กๆ รอบโคนต้นกว้าง 15-20 ซม. เทสารเคมีลงในร่องรอบโคนต้น ใช้สาร เคมีทุก 6 เดือน เป็นเวลา 2 ปี สารเคมีที่แนะนำ มีดังน้
- ไตรเดอร์มอร์ฟ(tridemorph) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น คาลิกซิน 75% EC โดยใช้ในอัตรา 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 1-2 ลิตรต่อต้น
- ไซโปรโคนาโซล(cyproconazole) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น อัลโด 10% SL โดยใช้ในอัตรา 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 1-2 ลิตรต่อต้น
- โปรปิโคนาโซล(propiconazole) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น ทิลท์ 25% EC โดยใช้ในอัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 3 ลิตรต่อต้น
- เฮกชะโคนาโซล(hexoconazole) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น เอนวิล 5% EC โดยใช้ในอัตรา 10-20 ซีซีต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น
- เฟนิโคลนิล(feniclonil) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น เบเรต์ 40% FS โดยใช้ในอัตรา 4-8 กรัมต่อน้ำ 3 ลิตรต่อต้น
7. ใช้เชื้อจุลินรีย์ปฏิปักษ์ Trichoderma sp ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์เสมอใจ ชื่นจิตต์ ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์เชื้อดีที่จะไปควบคุมเชื้อสาเหตุโรค เป็นการใช้กลไกการควบคุมทางชีววิธี ซึ่งสามาถควบคุมการเกิดโรคได้อย่างยั่งยืน
***********************************************************************************************
โรครากแดง (Red root disease)
เชื้อราโรครากแดงมักพบระบาดในสวนยางที่มีตอและรากไม้ใหญ่ๆ ฝังลึกอยู่ในดิน เชื้อราเจริญเติบโตค่อนข้างช้า จึงมักพบกับต้นยางที่กรีดได้แล้วเป็นส่วนใหญ่
สาเหตุของโรครากแดง
เกิดจากเชื้อรา Ganoderma pseudoferreum (Wakef) Over & Steinm
ลักษณะอาการของโรครากแดง
ต้นยางที่ถูกเชื้อรากแดงเข้าทำลายจะแสดงอาการที่ทรงพุ่มเช่นเดียวกับโรครากขาว ส่วนรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะปกคลุมด้วยเส้นใยสีน้ำตาลแดง ซึ่งส่วนปลายของเส้นใยที่กำลังเจริญจะเป็นสีขาวครีม ลักษณะเส้นใยแก่จะจับกันเป็นแผ่นสีน้ำตาลแดงเป็นมันวาวเห็นได้ชัดเจนเมื่อล้างด้วยน้ำ รากมีลักษณะขรุขระ เนื่องจากมีก้อนดินและหินเกาะติดอยู่ เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคจะเป็นสีน้ำตาลซีดและกลายเป็นสีเนื้อในระยะต่อมา วงปีของเนื้อไม้จะหลุดแยกออกจากกันได้ง่าย ดอกเห็ดเป็นแผ่นแข็งด้านบนเป็นรอยย่นสีน้ำตาลแดงเข้ม ด้านล่างเป็นสีขี้เถ้า ขอบดอกเป็นสีขาวครีม
การแพร่ระบาดของโรครากแดง
ระบาดรวดเร็วในช่วงฤดูฝนซึ่งมีฝนตกชุก ความชื้นสูง
พืชอาศัยของเชื้อโรครากแดง ทุเรียน ขนุน จำปาดะ สัก สะเดาบ้าน ทัง โกโก้ กาแฟ ชา เงาะ พืชตระกูลถั่ว ลองกอง สะตอ
การป้องกันกำจัดโรครากแดง
- เตรียมพื้นที่ปลูกให้ปลอดโรค โดยการขุดทำลายตอยางเก่า ซึ่งเป็นแหล่งสะสมโรคออกให้หมด
- ในแหล่งที่มีโรคระบาด หลังการเตรียมดินควรปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วเพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชและจุลินทรีย์ในดินบางชนิดที่เป็นพิษต่อเชื้อราสาเหตุโรคราก
- หลังจากปลูกยางไปแล้ว 1 ปี ควรตรวจค้นหาต้นยางที่เป็นโรครากเป็นประจำ เมื่อพบต้นเป็นโรค ควรขุดทำลายและรักษาต้นข้างเคียงโดยการใช้สารเคมี
- ต้นยางที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ควรขุดคูล้อมบริเวณต้นเป็นโรค (ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. ) เพื่อกั้นระหว่างต้นที่เป็นโรคและต้นปกติ ไม่ให้รากสัมผัสกัน
- ไม่ควรปลูกพืชร่วม หรือพืชแซมที่เป็นพืชอาศัยในพื้นที่ที่เป็นโรคราก
- ใช้สารเคมีสำหรับรักษาต้นที่เป็นโรคเพียงเล็กน้อย และใช้กับต้นข้างเคียงเพื่อป้องกันโรค โดยขุดร่องเล็กๆ รอบโคนต้นกว้าง 15-20 ซม. เทสารเคมีลงในร่องรอบโคนต้น ใช้สาร เคมีทุก 6 เดือน เป็นเวลา 2 ปี สารเคมีที่แนะนำ มีดังน้
- ไตรเดอร์มอร์ฟ(tridemorph) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น คาลิกซิน 75% EC โดยใช้ในอัตรา 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 1-2 ลิตรต่อต้น
- ไดฟิโนโคนาโซล(difenoconazole) ที่พบและมีจำหน่ายในชื่อการค้า เช่น สกอร์ 25% EC โดยใช้ในอัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 3 ลิตรต่อต้น ใช้ได้ผลดีกับต้นที่เป็นโรคเพียงเล็กน้อย เท่านั้น
************************************************
ใกล้จบแล้วจ้า เหลือตอนสุดท้าย ติดตามต่อกันนะคะ จะได้ป้องกันรักษาหน้ากรีดและต้นยางพาราในช่วงฤดูฝนกันอย่างถูกต้องค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การป้องกันและรักษา(หน้ากรีด)ยางพ...
- ใหม่กว่า » การป้องกันและรักษา(หน้ากรีด)ยางพ...
Comment on this Post