ความเห็น: 0
ทะลายปาล์ม...ใครกำหนดราคา?
“ทำไมตอนนี้ราคาทะลายปาล์มน้ำมันจึงต่ำลง...?” “มันเกิดอะไรขึ้นกับราคาปาล์ม...?” เป็นคำถามที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มสงสัยเนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันในปีเดียวกันเคยขึ้นลงต่างกันถึง 3-5 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาทะลายปาล์มสูง 9-10 บาท/กิโลกรัม เป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่?
หากวิเคราะห์ดูราคาทะลายปาล์มตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนตุลาคม 2553 จะเห็นว่าราคาปาล์ม อยู่ระหว่าง 3-6 บาทต่อกิโลกรัม การที่ราคาปาล์มสูงถึง 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนมกราคม 2554 ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ (แต่ดีสำหรับเกษตรกร) ปัจจัยที่ทำให้ราคาทะลายปาล์มสูง คือ ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่สูงขึ้นในช่วงดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากกลไกตลาด หรืออะไร ก็ไม่สามารถมราบได้ หลังจากนั้นราคาก็กลับสู่สภาวะปกติ ดังนั้นการที่ราคาอยู่ที่ 5-6 บาท/กิโลกรัม ไม่ใช่ราคาทะลายปาล์มลดลงแต่เป็นราคาในสภาวะปกติ จะเห็นได้ว่าสภาวะปกติราคาทะลายปาล์มจะสอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เสมอ
ราคาทะลายปาล์มในปัจจุบันต่ำจริงหรือ...?
หากดูข้อมูลทะลายปาล์มย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 จะเห็นว่าราคาทะลายปาล์มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 ถึงมีนาคม 2554 สูงกว่าราคาปาล์มในช่วงเดียวกันของปี 51/52 และปี 52/53 คำถามคือ “ราคาทะลายปาล์มในปัจจุบันต่ำจริงหรือ...?” คำตอบคือ “ไม่จริง” เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ
การกำหนดราคาทะลายปาล์มน้ำมัน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อเกษตรกรที่ปลูกปาล์ม นำทะลายปาล์มไปขายให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานสกัดไม่ได้ซื้อทะลายปาล์มแต่ซื้อน้ำมันที่อยู่ในทะลาย ดังนั้น ถ้าทะลายปาล์มสมบูรณ์ ผลปาล์มสุกเต็มที่ มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง โรงงานก็จะซื้อในราคาสูง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นปาล์มดิบหรือปาล์มเน่า มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ โรงงานสกัดก็จะซื้อปาล์มในราคาต่ำ
โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มตั้งฐานราคาปาล์มอย่างไร...?
ผลผลิตที่ออกจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม คือ น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ดังนั้น การตั้งราคาทะลายปาล์มจะตั้งจากราคา CPO ที่โรงงานขายแล้วนำมาคำนวณปริมาณน้ำมันที่อยู่ในทะลาย แล้วจึงตั้งราคาทะลายปาล์ม
ตัวอย่าง
- ถ้าโรงงานขาย CPO ราคากิโลกรัมละ 40 บาท
- ต้นทุนการผลิตโรงงานในการผลิต CPO จะประกอบด้วยค่าพนักงาน ค่าเสื่อมของเครื่องจักร ค่าดอกเบี้ยธนาคาร ค่าอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงผลกำไรด้วย สมมติว่าอยู่ที่ 3 บาทต่อการผลิต CPO 1 กิโลกรัม ดังนั้น โรงงานจะเหลือเงินไปซื้อวัตถุดิบ (ทะลายปาล์ม) เท่ากับ 40-3 = 37 บาท
- เงิน 37 บาท โรงงานจะซื้อทะลายปาล์มในราคากิโลกรัมละเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์น้ำมันในทะลาย
- ถ้าทะลายปาล์มผลดี มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันเท่ากับ 20 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าโรงงานหีบน้ำมัน CPO ได้ 20 กิโลกรัม จะต้องใช้ปาล์ม 100 กิโลกรัม
- ดังนั้น CPO 1 กิโลกรัมจะต้องใช้ปาล์มเท่ากับ 100/20 กิโลกรัม = 5 กิโลกรัม โรงงานจะใช้เงิน 37 บาทเพื่อซื้อปาล์ม 5 กิโลกรัม ดังนั้น ราคาทะลายปาล์ม 1 กิโลกรัมเท่ากับ 37/5 บาท = 7.4 บาท
- ถ้าทะลายปาล์มผลดิบหรือปาล์มเน่ามีเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าโรงงานหีบน้ำมัน CPO 13 กิโลกรัม จะต้องใช้ปาล์ม 100 กิโลกรัม ดังนั้น CPO 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ปาล์ม เท่ากับ 100/13 กิโลกรัม = 7.69 กิโลกรัม ดังนั้นราคาปาล์ม 1 กิโลกรัม เท่ากับ 37/7.69 = 4.81 บาท
จากตัวอย่างข้างต้น คือ การกำหนดราคาในสภาวะปกติ (ไม่ได้มีการแก่งแย่งทะลายปาล์ม หรือกดราคาจากโรงงาน)
ใครคือผู้กำหนดราคาทะลายปาล์มตัวจริง...?
จากกลไกกำหนดราคา (ในสภาวะปกติ) ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าราคาทะลายปาล์มจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ
- ปัจจัยที่ 1 ราคา CPO ในตลาดโลก ปัจจัยนี้เราไม่สามารถควบคุมได้ตามความต้องการ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้บริโภค
- ปัจจัยที่ 2 โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นผู้แปรรูป หากโรงงานมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการสูญเสียในระหว่างกระบวนการผลิต มีการเพิ่มมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิต ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง สามารถนำจ่ายส่วนนี้ไปเพิ่มราคาของวัตถุดิบ (ทะลายปาล์ม) ได้สูงขึ้น
- ปัจจัยที่ 3 เกษตรกรผู้ส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน เกษตรกรจะต้องผลิตทะลายปาล์มที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ได้แก่ทะลายปาล์มที่สมบูรณ์ มีความสุกเต็มที่ และไม่มีสิ่งเจือปน
จะเห็นได้ว่าราคาทะลายปาล์มจะสูงไม่ได้เกิดจากปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากปัจจัยรวมทั้ง 3 ปัจจัย “ปัจจัยของราคา CPO อาจเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แต่ปัจจัยที่ 2 และ 3 สามารถควบคุมได้”
ถึงเวลาแล้วหรือยัง...?
ที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม และโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันมีความคิดว่าทั้งสองฝ่าย ต่างเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ โดยเกษตรกรคิดว่าโรงงานสกัดก็เป็นเกษตรกร จะต้องผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูงสู่โรงงานสกัด และโรงงานสกัดก็คิดว่าทะลายปาล์มที่เข้าโรงงานก็เป็นทะลายของตัวเอง มีการตั้งราคาอย่างเป็นธรรม ถ้าทำได้ ทั้งสองฝ่ายก็ต่างได้รับผลประโยชน์ โดยเกษตรกรจะได้ราคาทะลายปาล์มสูงขึ้น โรงงานลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เนื่องจากในการผลิต CPO 1 กิโลกรัม จะใช้จำนวนทะลายปาล์มลดลง การสึกหรอของเครื่องจักรกลและการใช้แรงงานจะน้อยลง ความมั่นคงของราคาทะลายปาล์มก็จะเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงความยั่งยืนในอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศอย่างแน่นอน
*********************************************************
ข้อมูลโดย: คุณธีระพงศ์ จันทรนิยม นักวิชาการเกษตรกชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน ฝ่ายวิจัยและบริการ คณะทรัพยากระรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา.
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การป้องกันและรักษา(หน้ากรีด)ยางพ...
- ใหม่กว่า » เจาะต้น...ใส่ปุ๋ยปาล์ม...ดีจริงห...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้