comment: 0
การป้องกันและกำจัดโรคพืชในฤดูฝน
ฤดูฝน นอกจากจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และการเริ่มต้นของพืชหลากหลายชนิดแล้ว ยังเป็นฤดูที่นำมาซึ่งการระบาดของโรคนานาชนิดที่มาพร้อมกับความชุ่มชื้น การศึกษาสาเหหตุและวิธีป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับพืชในฤดูฝน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรักษาไว้ให้พืชมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เป็นโรคต่าง ๆ และสามารถให้ผลผลิตอย่างดีได้
อย่างไรถึงเรียกว่าโรคพืช???
โรคพืช หมายถึง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพืชทั้งทางลักษณะรูปร่าง และทางสรีรวิทยา (ระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ของพืช) ความผิดปกติที่เกิดจากทั้งทางรูปร่าง การเปลี่ยนแปลงภายใน เช่นเนื้อเยื่อมีการตาย ลำต้นแห้ง ใบเหี่ยว เนื้อเยื่อเป็นปุ่มปม กระบวนการภายในเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น และอีกประการหนึ่งที่จะเกิดโรคได้นั้นไม่ได้เกิดทันทีที่ถูกกระทำ แต่มันจะเปลี่ยนแปลงระยะหนึ่งก่อนที่จะเกิดโรค หรืออาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะเชื้อ
สาเหตุของการเกิดโรค
โดยทั่วไปเกิดได้จากทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
- สิ่งมีชีวิต ได้แก่ เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไวรอยด์ ตัวใหญ่ขึ้นมาหน่อย คือ ไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายๆพยาธิในท้องคน แต่เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
- สิ่งไม่มีชีวิต มักเป็นสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิสูง ต่ำ ความเป็นกรดด่างของดิน มลภาวะ สารเคมีในดิน รวมถึงปุ๋ยและธาตุอาหารในดิน เช่น ปุ๋ยมากเกินไป ธาตุอาหารในดินไม่สมดุล เป็นต้น
ซึ่งสาเหตุแต่ละอย่างมีธรรมชาติที่แตกต่างกันทำให้เกิดโรคต่างกัน เราก็ต้องรู้จักวิธีวินิจฉัยว่าเป็นสาเหตุมาจากสิ่งไหน เชื้อชนิดไหน จะได้หาวิธีป้องกันและกำจัดเชื้อได้อย่างถูกต้อง
อาการของโรคพืชที่พบ
พืชอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายลักษณะ ดังนี้
- เนื้อเยื่อตาย เช่น ใบจุด ใบไหม้
- กิ่งแห้ง ต้นตาย โคนเน่า รากเน่า (เน่าอยู่ใต้ดินทำให้ต้นเหี่ยวตาย)
- เป็นสะเก็ดที่กิ่งหรือผล
- ลักษณะใบหงิกงอ ใบด่าง
- โรคราแป้ง (คล้ายมีผงแป้งติดบนใบพืช) ทำให้ใบแห้งหรือร่วง
- โรคราสนิม (คล้ายมีผงสนิมติดตามใบ ทำให้ใบแห้งหรือร่วง)
- รากปม เกิดจากไส้เดือนฝอย ส่งผลให้ต้นพืชแคระแคร็น เหลือง
เราจะเรียกชื่อโรคตามอาการที่ปรากฏ เช่น โรคใบจุด ใบด่าง หรือลักษณะของชิ้นส่วนของเชื้อที่ปรากฏบนแผล เช่น โรคราแป้ง โรคราน้ำค้าง โรคราสนิม เป็นต้น
วิธีสังเกตอาการของโรคพืช
ความผิดปกติของโรคพืชนั้น เกิดจากเชื้อโรคที่ต่างชนิดกัน จะมีลักษณะต่างกัน เราก็จะสามารถวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น
- โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา จะมีลักษณะใบจุด ใบไหม้ กิ่งแห้ง รากเน่า โคนเน่า หรืออาจมีขุยของเชื้อราเกาะอยู่ ในกรณีของราเมล็ดผักกาด จะเห็นเม็ดกลมเล็กๆ สีน้ำตาลบริเวณแผล เป็นต้น
- โรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย จะมีลักษณะใบจุด ใบไหม้ โดยที่รอบๆจุดจะมีวงสัเหลืองล้อมรอบ อาจจะมีอาการใบเน่าและมีกลิ่นเหม็น เช่น โรคเน่าเละของผักกาด ผักกะหล่ำ เป็นต้น
- โรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยแมลงเป็นพาหะ ลักษณะของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัส คือ ใบด่าง (สีซีดลงจากเนื้อเยื่อทั่วไป) หงิกงอ ไหม้และตายในที่สุด ส่วนผลจะมีรอยด่าง ให้ผลผลิตที่มีขนาดเล็กลง
- โรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอย ทำให้รากพืชเป็นปม รากกุด ทำให้พืชมีลักษณะแคระแกร็น และใบเหลือง
ซึ่งในฤดูฝนนี้มีโอกาสจะเกิดโรคที่เกิดจากเชื้อราและมีเชื้อแบคทีเรียระบาดมากกว่าในฤดูหนาว เนื่องจากในฤดูฝนมีความชื้นในอากาศสูง เชื้อราและแบคทีเรียส่วนใหญ่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พืชเป็นโรคได้ง่าย
คำแนะนำในการป้องกันและกำจัดโรคพืช
วิธีการที่จะป้องกันและกำจัดโรคพืชนั้น เกษตรกรควรให้การเอาใจใส่และดูแลพืชพันธุ์ให้สมบูรณ์และแข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการหรือลักษณะของพืชว่าผิดปกติหรือไม่ เมื่อเกิดแล้วควรใช้วิธีกำจัดอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งวิธีการป้องกันและกำจัดง่ายๆมีดังนี้
- ดูแลความสะอาดของแปลงปลูกพืช เก็บเศษเก่าทำลายทิ้ง
- ปลูกพืชหมุนเวียน คือการเลือกพืชต่างชนิดมรปลูกทดแทน ป้องกันการสะสมของเชื้อโรคในที่นั้นนาน และปริมาณมาก
- ในการปลูกพืชควรหลีกเลี่ยงการทำให้ส่วนของพืชมีความชื้นสูงเกินไป เช่น เว้นระยะห่างระหว่างต้นพืช จะเป็นการช่วยลดความชื้นในแปลงลง เป็นต้น
- เมื่อเริ่มพบส่วนของพืชที่เป็นโรคที่ตัดออกได้ ให้ตัดออกไปทิ้ง
- การใช้สารเคมีกำจัด ควรใช้ในกรณีที่จำเป็น เช่น สารเคมีฆ่าเชื้อรา ควรเลือกให้เหมาะกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค และใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ (ตามคำแนะนำข้างกล่อง) และให้เหมาะสมกับช่วงเวลา หากใช้กับส่วนของพืชที่ผลิตออกไปเพื่อบริโภค ควรใช้แล้วทิ้งระยะเวลาให้ห่างจากช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย จะได้ไม่มีอันตรายจากสารตกค้าง และบริโภคได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการกำจัดโดยใช้วิธีธรรมชาติหรือแบบชีววิธี คือ การนำเอาเชื้อจุลินทรีย์ประเภทดี ไปทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุโรคพืช ที่สำคัญคือต้องหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้ถอนไปทำลาย หรือถ้ายังเป็นไม่มากก็ให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราโรคพืช โดยการนำไตรโคเดอร์มา 1 ส่วน คลุกเคล้าผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก 50 ส่วน นำไปรองก้นหลุม หรือหว่านรองทรงพุ่ม แต่ถ้าเป็นไม้กระถางก็คลุกผสมกับดินปลูก อาจจะผสมภูไมท์ซัลเฟตเพิ่มไปอีก 2-3 ช้อนแกงต่อกระถาง เพียงเท่านี้พืชของทุกๆท่านก็จะไม่ติดโรคที่มาในฤดูฝนค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เจาะต้น...ใส่ปุ๋ยปาล์ม...ดีจริงห...
- ใหม่กว่า » โรคสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังในหน้าฝน
Comment on this Post