ความเห็น: 0
กาวยางธรรมชาติ
กาวจากน้ำยางธรรมชาติส่วนใหญ่ทั้งสูตรที่ไม่ต้องวัลคาไนซ์และต้องวัลคาไนซ์ จะมีปริมาณเนื้อยางแห้งสูงถึง 60% ซึ่งนิยมใช้ในอุตสาหกรรมรองเท้าและการบรรจุ น้ำยางธรรมชาติยังถูกนำมาใช้เป็นกาวในการยึดติดสิ่งทอเพื่อใช้ในงานต่างๆ เช่น การติดขอบพรม การติดหนังกับหนังและการติดผ้ากับผ้า นอกจากนั้นยังใช้ในการติดกระดาษกับหนังและเชื่อมวัสดุที่ผิวมีรูพรุนเข้าด้วยกัน โดยจุดเด่นของกาวจากน้ำยางธรรมชาติจะมีสมบัติดีกว่ากาวจากสารละลาย เช่น ต้นทุนต่ำกว่า ไม่ติดไฟ ไม่มีสารละลายที่เป็นพิษ และทนต่อการบ่มเร่งได้ดีกว่า
กาวจากน้ำยางธรรมชาติ ตาม มอก.เลขที่ 521-2527 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1)ประเภทใช้ทั่วไป และ 2)ประเภททนน้ำมัน ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ตาม ดังนี้
1. ความสม่ำเสมอ: กาวจะต้องมีความสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีอนุภาคที่จับตัวเป็นก้อนหรือสิ่งแปลกปลอม สามารถใช้งานด้วยแปรงได้สะดวกที่อุณหภูมิตั้งแต่ 5-50°C
2. สี: กาวจะต้องไม่ทำให้เกิดรอยเปื้อนหรือเปลี่ยนสีหรือทำลายส่วนใดส่วนหนึ่งของวัสดุที่นำไปใช้งาน
3. กลิ่น: กาวจะต้องไม่มีกลิ่นบูดเน่า
4. สมบัติการประกอบ: กาวจะต้องแห้งเร็วและเหนียวเพียงพอที่จะประกอบวัสดุต่างๆเข้าด้วยกัน
5. ปริมาณของแข็งทั้งหมด: ปริมาณของแข็งทั้งหมดในกาวต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยมวล
6. ความเสถียรเชิงกล: กาวจะต้องคงสภาพไม่จับตัวเป็นก้อนภายในเวลาไม่ต่ำกว่า 10 นาทีเมื่อกวน ด้วยความเร็ว 14,600 รอบต่อนาที
7. การยึดติด: แรงในการยึดติดของชิ้นงานที่แห้งต้องไม่ต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัมต่อเซนติเมตร และแรงในการยึดติดของชิ้นงานที่ผ่านการบ่มเร่งต้องไม่ต่ำกว่า 1.2 กิโลกรัมต่อเซนติเมตร
8. อายุการเก็บ: กาวจะต้องต้องไม่เสื่อมคุณภาพและยังคงใช้งานได้ดีเมื่อเก็บในภาชนะปิดภายใต้บรรยากาศปกติ ซึ่งมีอุณหภูมิระหว่าง 20-34°C เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
นอกจากนี้ยังต้องทดสอบความหนืดและความหนาแน่น ด้วยเครื่อง RV Brookfield หรือเทคนิคอื่น และพิกโนมิเตอร์ ที่มีความจุระหว่าง 50-110 ลบ.ซม.
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « แผ่นยางกันซึมในงานคอนกรีต
- ใหม่กว่า » กล้องคอนโฟคอลเลเซอร์ฟื้นคืนชีพ
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้