comment: 5
9 วิธีบริหารมนุษย์งาน Gen Y
เป็นสมาชิก Secret มีบทความที่ใช่เลย ฉบับที่ 28 ปีที่ 2 เรื่องโดย โอโตริ จึงถือโอกาสคัดลอกมาให้เพื่อนๆ และหลานๆ ได้อ่านกัน เผื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตในขณะนี้
“ขี้เกียจ เห็นแก่เงิน สมาธิสั้น โลกส่วนตัวสูง...” เหล่านี้เป็นคำซุบซิบเกี่ยวกับมนุษย์งาน เจ็นวาย (Generation Y หมายถึงคนที่เกิดระหว่างปี 2521 – 2533) ที่มีให้ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ
ทำให้ผู้บริหารพยายามลดอายุหรือหามาตรการทำให้เรื่อง “งาน” กลายเป็นเรื่อง “เล่น” เพื่อเอาชนะใจพวกเขา
แต่ทว่า บรูซ ทุลแกน (Bruce Tulgan) เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลแห่งสหรัฐอเมริกา นักพูด และนักเขียนชื่อดัง ได้เปิดตัวหนังสือ Not Everyone Gets a Trophy บอกเล่าถึงวีธีการบริหารมนุษย์งาน Gen Y ที่พลิกความเชื่อเก่า ๆ ได้หมดจด ถึงขนาดที่ว่ากันว่า นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ Gen Y ยอมรับว่าเข้าใจพวกเขามากที่สุด
ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้บริหารรุ่นเก่าได้รู้ว่า จะบริหารมนุษย์งานที่มีศักยภาพสูงกลุ่มนี้ได้อย่างไร
1 ส่ง Gen Y ขึ้นสู่รันเวย์ Gen Y เป็นคนที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนรุ่นไหน ๆ พวกเขาพร้อมทำงานหนัก เพื่อเหินฟ้าขึ้นสู่ความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทต้องการอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารควรทำคือ เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของ Gen Y และพูดคุยตกลงกันตั้งแต่เริ่มแรกในหัวข้อต่อไปนี้
O ต้องทำให้ Gen Y รู้ว่าบริษัทพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งหรือเพิ่มสวัสดิการจากผลงาน มิใช่เส้นสาย ประวัติชีวิต ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขอื่น ควรแจ้งให้เขารู้เพื่อที่เขาจะได้เตรียมปรับปรุงตัวเอง
O ต้องทำให้ Gen Y ควบคุมตารางงานของตัวเองได้ โดยบอกเส้นตายและหลักในการพิจารณาที่ชัดเจน
O ต้องยืดหยุ่นเรื่องสถานที่ทำงาน เช่น ปล่อยให้เขาจัดโต๊ะทำงาน เล่นอินเทอร์เน็ต เปิดเพลงเบา ๆ เข้างานสาย หรือแม้แต่ทำงานที่บ้านได้ ตราบใดที่ผลงานยังคงยอดเยี่ยม
O ต้องเติมความรู้ให้พนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งที่ Gen Y กลัวมากที่สุด คือ ความล้าสมัย บริษัทจึงควรเตรียมคอร์สอบรมหรือเน้นย้ำให้เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ถ่ายทอดวิชาให้
O ต้องทำให้ Gen Y เข้าถึงตัวบอสใหญ่หรือคนที่มีอำนาจในการแก้ปัญหาได้ เพราะ Gen Y ต้องการคำตอบที่แก้ปัญหาได้จริงและทันท่วงที
O ต้องให้เครดิต เพราะ Gen Y เชื่อว่า ความสำเร็จแต่ละอย่างคือขั้นบันไดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่สูงกว่า Gen Y ไม่แคร์ว่าบันไดนี้จะทอดยาวขนาดไหน แต่พวกเขาต้องการให้มีคนเห็นว่าพวกเขาง่วนอยู่กับการก่อขั้นบันไดตลอดเวลา
O ต้องให้อำนาจแก่ Gen Y เต็มร้อย เรื่องใดที่อยู่ในขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบของลูกน้อง เจ้านายต้องให้อำนาจแก่พวกเขาเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาควบคุมความสวยสดงดงามของผลงานได้อย่างแท้จริง
O ต้องให้ Gen Y มีอิสระภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่จำเป็นต้องทุกเรื่อง เรื่องใดที่เขาไม่มีสิทธิ์ เจ้านายควรบอกให้ชัดเจนด้วย
2 สอนงานอย่างเร่งด่วน จากการวิจัย Gen Y มากว่า 20 ปี ทุลแกน ยืนยันว่า Gen Y เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นสูงลิบ หัวหน้างานควรสอนงานและบอกเล่าสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานให้ Gen Y เข้าใจอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้เขาทำงานของตัวเองได้โดยลำพัง เพราะถ้าหัวหน้างานอ้างว่า “ไม่มีเวลาสอน” พวกเขาจะโต้กลับทันทีว่า “การที่คุณไม่สอนต่างหากที่ทำให้ฉันเสียเวลา”
3 สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร ทุลแกน เรียกบรรยากาศนี้ว่า Loco Parentis หมายถึง บรรยากาศของความห่วงใยที่ผู้ใหญ่มีให้คนที่อ่อนวัยวุฒิกว่า หัวหน้างานควรเข้าใจจุดเด่นและจุดด้อยของลูกน้องแต่ละคน คุณอาจเริ่มให้ความใส่ใจพวกเขาด้วยการทักทายกันเมื่อพบหน้า และจบบทสนทนาด้วยคำแนะนำที่มีประโยชน์ ให้ความจริงใจ อีกทั้งต้องพูดคุยปรึกษากับพวกเขา หรือตั้งรางวัลพิเศษสำหรับการทำงานที่เพิ่มขึ้นแต่ละครั้ง
4 แก้ปัญหาการปรับตัว ปัญหาที่ Gen Y มักพบในที่ทำงานคือ การปรับตัว เนื่องจาก Gen Y จะใช้ ความเป็นเพื่อนในการปฏิสัมพันธ์กับคน และไม่สนใจลำดับขั้นหรือสายการบังคับบัญชา ดังนั้นเจ้านายจึงควรสอนวิธีการปรับตัวและวิธีเอาตัวรอดในที่ทำงานให้พวกเขา เริ่มตั้งแต่การพิจารณาบทบาทและหน้าที่ของตนเอง การทำงานร่วมกับคนอื่น การแก้ปัญหาโดยไม่ต่อสายตรงถึงเจ้านายของเจ้านายในทันทีทันใด แต่ให้มีการเปิดประชุมย่อยที่มีเขา มีคุณ และบอสของคุณเข้าร่วมด้วย เป็นต้น
5 ปลูกฝังการบริการ ประโยคเด็ดที่หัวหน้างานควรบอกลูกน้อง Gen Y คือ “ในที่ทำงานนั้น นอกจากตัวเองแล้ว ให้ถือว่าคนอื่นเป็นลูกค้า” วิธีนี้นอกจากจะสามารถเอาชนะใจลูกค้า ซึ่งเป็นคนที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัท (แต่ Gen Y มักมองไม่เห็น) แล้วยังทำให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหาการปรับตัวในที่ทำงานอย่างได้ผลด้วย
6 สอนวิธีบริหารตัวเอง Gen Y ชอบผนวกไลฟ์สไตล์เข้ากับชีวิตการทำงาน และมักมีปัญหาด้านการบริหารเวลา ทุลแกน จึงสรุปว่า “ของขวัญที่ดีที่สุดที่หัวหน้างานจะให้ได้คือ การสอนให้เขารู้จักแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ออกจากกัน อีกทั้งต้องสอนวิธีกำจัดการใช้เวลาอย่างไร้ประโยชน์ออกไป” เช่น สอนการวางแผน การทำเช็คลิสต์ การประเมินตนเอง การตัดสินใจ โดยใช้เหตุผลรอบด้าน ฯลฯ
7 เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ลูกน้อง Gen Y ของคุณควรรู้ว่าเขากำลังทำงานอยู่ภายใต้หัวหน้างานที่
O โปร่งใส อย่าบ่นว่าทำไมลูกน้องไม่ทำสิ่งที่ควรทำ แต่ให้บอกพวกเขาไปตรงๆ ว่าคุณต้องการอะไรบ้าง
O เด็ดขาด เมื่อออกกฎใดๆ มาแล้ว คุณต้องรักษากฎอย่างเคร่งครัด ไม่ลำเอียง และจำไว้ว่า การเชิญพนักงานที่ไม่เอาไหนออกหนึ่งคน จะทำให้พนักงานที่เหลืออยู่ขยันมากขึ้นทันตาเห็น
O โฟกัสที่วิธีการแก้ปัญหา ไม่ใช่ที่ตัวปัญหา
8 เก็บรักษาลูกน้องคนเก่ง Gen Y มักโดนค่อนขอดว่า “เปลี่ยนงานบ่อย” แต่หารู้ไม่ว่าพวกเขาจะลาออกก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าทำงานแล้วไม่มีความสุข หรือทำงานหนักไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นต่างหาก ดังนั้นถ้าหัวหน้างานไม่อยากปล่อยให้พนักงานเก่ง ๆ หลุดมือไป ควรหาวิธีเก็บพวกเขาไว้ด้วยการหาช่องทางหรือโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อดึงดูดคนพวกนี้ไว้ เป็นการเพิ่มผลประโยชน์แก่บริษัท ในขณะเดียวกับที่ได้เพิ่มผลประโยชน์ให้พนักงานด้วย
9 ปั้นดาวดวงต่อไป คุณควรส่งเสริมลูกน้องที่มีแววอย่างสุดตัว โดยมอบหน้าที่ด้านการบริหารและอำนาจที่แท้จริง อีกทั้งต้องทำให้ผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ทราบว่า เขา หรือ เธอ คือคนเก่งของคุณ นอกจากนี้คุณควรให้เวลาดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และหมั่นปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
ไม่ว่า Gen Y จะทำให้บรรดาหัวหน้างานลำบากใจแค่ไหนก็ตาม แต่เราอย่าลืมว่า คนรุ่นนี้คือ หัวหน้างาน เจ้านาย หรือ บอส ซึ่งจะขับเคลื่อนสังคมรุ่นต่อไปนั่งเอง
และ.... คนไฟแรงอย่างพวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากผู้นำที่เข้มแข็งและใส่ใจเช่น “คุณ”ความเชื่อที่ดูเหมือนใช่ : Gen Y ไม่เห็นแก่หัวหงอกหัวดำ ความจริง : ไม่มีคนรุ่นไหนอีกแล้วที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดเท่ากับGen Y จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่เคารพผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต่างให้ความชื่นชมและเห็นความสำคัญของพวกเขามาก ดังนั้นผู้บริหารรุ่นเก๋า จึงไม่ควรมองข้ามความเห็นของพวกเขา ด้วยเหตุผลเพียงว่าพวกเขาผ่านโลกมาน้อยกว่า |
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « จินดารัตน์ อีกแล้ว
comment
ได้เข้าไปอ่าน blog ของนักเรียนห้องสันติศึกษา แล้ว ทำให้เห็นตัวตนของ Gen Y ของ ม.อ คนหนึ่ง ซึ่งมั่นใจได้เลยว่า จะเป็นกำลังสำคัญของ ม.อ ชัวร์
![]() |
อ.อุไรวรรณ อยู่ชาถ่ายทอดประสบการณ์
บริหาร Gen Y ให้แก่ หัวหน้างานที่บริษัท ได้ดีมาก ทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวของผู้บริหารในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน และ ทำให้ผู้บริหาร เข้าใจ Gen y มากขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้บริหารในยุคนี้คับ รวมทั้งเทคนิคการดูให้ Gen Y เพื่อให้ Gen Y รักศรัทธาและทำงานอย่างมีความสุข
![]() |
อ.อุไรวรรณ อยู่ชา บรรยายหลักสูตร การบริหาร Gen Y ได้ดีมาก ๆ ค่ะ ไปเข้าอบรมมาแล้วค่ะ
อาจารย์นำเสนอเป้าหลอมของคนแต่ละยุค ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาช่องว่าง จูงให้เข้าใจ Gen Y
และ เปิดใจ เข้าใจ "ใกล้" กันให้มากขึ้น เพื่อปรับตัวให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดย
ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้เทคนิคไปดูแล Gen Y มาแล้วค่ะ อ.อุไรวรรณ เก่งมาก ๆๆๆๆ
ถ่ายทอดได้ตรงประเด็น ชัดเจน ได้ประโยชน์ครบ และสนุกมาก ๆ ดังนั้น อย่ากังวลกับ
Gen Y เลยนะคะ ขอเพียง "เปิดใจ เข้าใจ" กันให้มากขึ้นค่ะ
02 กันยายน 2552 08:54
#47919
อ่านแล้ว ก็เป็นจริงอย่างบทความว่า ซึ่งสมาชิกในองค์กรต้องเข้าใจ โดยเฉพาะในองค์กรที่มีช่วงอายุห่างกันของบุคลากรที่ทำงานอยู่ ต้องเรียนรู้เพื่อความเข้าใจคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา มิฉะนั้นองค์กรจะไม่เป็นหนึ่งเดียว ในองค์กรใหญ่ ที่มีหน่วยงานมาก จะเริ่มเห็นปัญหาชัดเจนขึ้นจากการประสานงานระหว่างคน 2 รุ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งเล็กๆ แต่ปล่อยไปจะมากขึ้นได้ น่าจะมีหน่วยงานจัดอบรมให้ความรู้ด้านจิตวิทยาการทำงานมากขึ้น เพราะเป็นหัวข้อที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ ส่วนมากปัจจุบันจะเน้นตัวชี้วัดอย่างจัดจ้าน ซึ่งเป็นตัวที่คนรุ่นใหญ่สนใจ เข้าใจและท้าทาย แต่คนรุ่นเดิมสนใจน้อยกว่า อาจจะติดรูปแบบเดิมๆ ทำอย่างไรดีนะ......