ความเห็น: 1
ประสิทธิภาพระบบราชการไทย
ขอนำเรื่องประเด็นร้อน ICAO มาเชื่อมโยงกับบันทึกนี้อีกครั้งครับ
เริ่มจากบทความของ ดร.วิรไท สันติประภพ ได้พูดถึง ความกังวลที่มีต่อความอ่อนแอและบกพร่องของระบบราชการไทยที่มีอยู่อย่างมากมาย มีปัญหาที่ถูกละเลยและซุกซ่อนไว้ใต้พรมกระจายอยู่แทบทุกหน่วยงานตลอดมา โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ยกมา ก็ได้แก่ความบกพร่องร้ายแรงของกรมการบินพลเรือน ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติร้ายแรงด้านอุตสาหกรรมการบิน และอาจลามไปสู่การท่องเที่ยวและด้านอื่นๆด้วย ดร.ก็ ระบุว่า ความอ่อนแอของระบบราชการไทยจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้เกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤติได้ (11 มีนาคม 2558)
บรรยง พงษ์พานิช เขียนไว้ใน Thaipublica (กล้าพูดความจริง)
เหตุการณ์ที่เกิดที่กรมการบินพลเรือน ซึ่งถือว่าเป็นกรมเกรดเอ นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ International Civil Aviation Organization (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทางด้านการบินพลเรือน ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบินของเราพร้อมๆ กับประเทศอื่นๆ ใน ASEAN เมื่อต้นปี แล้วประกาศผลไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผลนั้นคงทราบกันดีแล้วว่า เด็กชายไทยแลนด์สอบตกยับเยินได้ที่โหล่ เราได้คะแนนแค่ 35.6% แพ้แม้กระทั่งเขมร (40.2%) อินโดฯ (45.1%) ซึ่ง เป็นอีกแค่สองชาติที่สอบตกได้ไม่ถึงครึ่ง ส่วนบรูไน พม่า ลาว ที่ต่างก็มีเครื่องบินพลเรือนไม่กี่ลำ ต่างก็ได้ 65% คะแนน เกือบสองเท่าเรา ในขณะที่มาเลเซีย ที่เครื่องเพิ่งตกไป 3 ลำในปีเดียวก็ผ่านฉลุย 81% ส่วนสิงคโปร์ของท่านลีนั้นไม่ต้องพูดถึง ฟาดไป 98.9% เกือบสูงสุดในโลก ควบคู่ไปกับ UAE ที่มี Emirates กับ Etihad (เห็นได้ชัดว่าคู่แข่งเจ้าจำปีเราอยู่ในประเทศที่มาตรฐานสูงลิ่วทั้งนั้น แล้วจะไปเหลือเหรอครับ)
การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานที่ชื่อว่า ICAO Universal Safety Oversight Audit Program (USOAP) ซึ่งล้วนเป็นข้อสอบที่ทุกคนรู้โจทย์อยู่ล่วงหน้าหมดแล้ว ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อไหร่ ต้องทำเข้มข้นแค่ไหน (เขาถึงได้เกือบเต็มกันหมดไงครับ) นับว่าง่ายกว่าการที่ให้เด็กไทยไปสอบแข่ง PISA เป็นไหนๆ แต่ข้าราชการไทยก็ทำขายหน้ายิ่งกว่าเด็กได้ถึงเพียงนี้ จาก 100 กระบวนการที่เขาตรวจสอบ เราสอบผ่านแค่ 21 กระบวนการเท่านั้น เรียกได้ว่ามีแต่ประเทศด้อยพัฒนาแถวแอฟริกาเท่านั้นที่ได้คะแนนห่วยขนาดนี้ มันช่างอัศจรรย์ ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ และมันก็เลยชวนให้เข้าใจได้อย่างเดียวเท่านั้นว่า ไม่ทำงาน ไม่เอาใจใส่ ไม่รับผิดชอบ ไม่…ฯลฯ และถ้าจะคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เขาได้ตักเตือนถึงข้อบกพร่องตลอดมา กับไอ้สำนักงาน ICAO ของภาคพื้น Asia-Pacific ก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเรานี่เอง โดยรัฐบาลไทยหาที่ดินพร้อมก่อสร้างให้ฟรีๆ ด้วยซ้ำ ก็ยิ่งจะต้องชอกช้ำกลัดหนองขึ้นไปใหญ่
วันที่ 30 มี.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า จากกรณีที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ ตรวจพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศในประเทศไทย จนส่งผลให้ กรมการบินพลเรือนญี่ปุ่น (Japan Civil Aviation Bureau หรือ JCAB ) ไม่อนุมัติให้มีการขยาย หรือเปลี่ยนบริการขนส่งทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มท่าอากาศยาน หรือเปลี่ยนแบบอากาศยาน เครื่องบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่จะทำการบินไปยังประเทศญี่ปุ่น สำหรับสายการบินที่ขอเปิดทำการบินแบบเช่า เหมาลำ
เช้านี้ก็เห็นท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกข่าวชี้แจงว่าต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วน อาจต้องใช้ ม.44 เข้าช่วยให้กระบวนการแก้ไขเร็วขึ้นจนสำเร็จภายใน 2-8 เดือน
เรื่องราวอาจไม่ได้เรียบเรียงเป็นระบบนะครับ ผมก็ปะติดปะต่อจากข้อมูลหลายแหล่งเอาเองครับ
ประเด็นที่ผมคิดว่าเราต้องตระหนักก็คือ "ประสิทธิภาพของระบบราชการไทย" ซึ่งก็รวมของ ม.อ.เราด้วย ว่าเราได้บรรลุประสิทธิภาพที่ดีหรือไม่ หรือเรากำลังทำงานให้ผ่านไปวัน ๆ เพื่อที่สิ้นเดือนจะได้รับเงินเดือนเท่านั้นหรือไม่
ผมก็ไม่แฮปปี้กับระบบการประเมินผลการทำงานของม.อ.มานานแล้ว แต่ละหน่วยงานมีบุคลากรทำงานในระดับดีเด่น (>90) มากกว่าครึ่ง แต่จับต้องผลงานที่เป็นรูปธรรมเกือบจะไม่ได้ หรือไม่ได้หาค่า productivity ออกมาแสดงให้เห็นเลยว่า สามารถผลิตบัณฑิต 1 คน ในราคาต้นทุนที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัยอื่นเลย
ผมว่าผมจบการบันทึกไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า เพราะผมก็เห็นด้วยว่า "ความอ่อนแอของระบบราชการไทย" เป็นเรื่องจริง และเมื่อเห็นบทความน่าสนใจของ"ธีรยุทธ บุญมี" ใน http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58588 บอกเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งในศาสตร์ทางการเมืองหรือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ การรอมชอม ประนีประนอม แบ่งปันผลประโยชน์ (juste-milieu หรือ politics of the middle way) การสนทนาต่อรอง (dialogue and negotiation) เพื่อเกิดความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่การประนีประนอมจอมปลอมระหว่าง ถูก-ผิด หรือความชั่ว-ดี ซึ่งเราอาจมาใช้ผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น รอมชอมโดยไม่กล้าตัดสินใจ เช่น ในกรณี การคัดลอกวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี,โท และเอก เพื่อหลอกลวงหรือสมคบกับครูอาจารย์เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา ซึ่งไม่มีการลงโทษอย่างชัดเจน
ผมก็พอจะเข้าใจคน generation Y บ้างนะครับ เพราะลูก ๆ ของผมก็อยู่ในช่วงนี้ ในค่าเฉลี่ยแล้ว เธอสนใจเรื่องส่วนรวมและเรื่องในอนาคตน้อยกว่าคนรุ่นผมมาก
ผม..เอง (แมวขอบ่น)
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การทำงานจริง ๆ คือ การท้าทายขีดจ...
- ใหม่กว่า » กระบวนการ VS ผลลัพธ์: กรณีศึกษาล...
31 มีนาคม 2558 10:54
#102531
"...แต่ละหน่วยงานมีบุคลากรทำงานในระดับดีเด่น (>90) มากกว่าครึ่ง แต่จับต้องผลงานที่เป็นรูปธรรมเกือบจะไม่ได้..."
มันเป็นอย่างนั้นมานานแล้ว และจะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกนาน !!!