ความเห็น: 0
สารกันบูด:กรดเบนโซอิก
วันนี้ดำขำจะมาคุยเรื่องของสารกันบูดชนิดกรดเบนโซอิก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุกันเสียในลูกชิ้นต่าง ๆ ซึ่งศูนย์เครื่องมือฯ มีให้บริการทดสอบหาปริมาณกรดเบนโซอิกด้วยเครื่อง HPLC ราคาตัวอย่างละ 2400 บาท โดยลูกค้าผลิตลูกชิ้นขายหากต้องการยื่นขอ อย. ก็ต้องมีผลการทดสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นด้วย
ลูกค้ารายหนึ่ง ผลิตลูกชิ้นไก่ในหาดใหญ่ ได้มาส่งตัวอย่างลูกชิ้นไก่ทดสอบหาปริมาณกรดเบนโซอิก ปรากฎว่าพบกรดเบนโซอิกเล็กน้อย เลยโทรมาสอบถามผลการทดสอบเพิ่มเติม ทำให้ดำขำได้รับความรู้จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มให้ลูกค้า ซึ่งจากที่ดำขำรู้มาในอาหารสามารถใส่สารกันบูดได้ไม่เกิน 1000 ppm แต่ผลการทดสอบหาปริมาณกรดเบนโซอิกได้ประมาณสิบกว่า ๆ ppm ซึ่งก็น้อยมาก ก็คิดว่าผ่าน แต่ลูกค้าแจ้งว่าทาง อย. บอกว่าต้องไม่พบ ดำขำเลยชักจะงง ๆ ลูกค้าบอกว่าเขาเพิ่งปรับประกาศประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยหากพบสารเบนโซอิกในอาหารก็จะถูกปรับเป็นอัตราของปริมาณกรดดังกล่าว
ดำขำก็เลยค้นต่อ ซึ่งก็ได้ข้อมูลว่าตามตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลูกชิ้นเนื้อวัว ลูกชิ้นหมู และลูกชิ้นไก่ (มอก. 1009-2533) ว่าไว้ดังนี้ " กรดเบนโซอิกหรือเกลือเบนโซเอต ต้องไม่พบ " และ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2548 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร และมาตรฐาน CODEX มิได้กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่นอกเหนือจากที่ประกาศกำหนดจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก อย. เสียก่อน หากดูความหมายแล้วก็ไม่ได้ว่า ห้ามใช้ เพียงแต่ว่าหากจะใช้ก็จะต้องขออนุญาตใช้จากทาง อย. เสียก่อนซึ่งการขออนุญาตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขอเลขที่ อย. (โรงงานเล็ก ๆ มักจะไม่ขอเลขที่ อย. จึงสามารถใส่ยากันบูดได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากความรูความเข้าใจในการใช้) ซึ่งจะต้องแจ้งส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ นั่นเอง และหากได้รับอนุญาตให้ใช้แล้วก็จะต้องระบุในฉลากของผลิตภัณฑ์ว่า " ใส่วัตถุกันเสีย " ด้วยโดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าใส่ตัวอะไรในปริมาณเท่าไร หากไม่มีการระบุแล้วจะถือว่าผิดกฎหมายแม้จะได้รับอนุญาตแล้วก็ตาม
นอกจากนี้แล้วยังต้องพบสารโมโนโซเดียมแอลกลูตาเมต (ผงชูรส) ได้ไม่เกิน 0.25 % และต้องไม่พบสารบอแรกซ์ เห็นอย่างนี้แล้วเราก็ต้องเป็นกังวลเหมือนกันกันว่า จริงๆ แล้วลูกชิ้นนี้เรากินไปก็เหมือนให้โทษเหมือนกัน หากผู้ประกอบการไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ดำขำเชื่อว่าทุกโรงงานไม่ได้ตรวจสารกันบูดหรอก ถ้าไม่ต้องการขอ อย. ดำขำเป็นคนชอบกินลูกชิ้นเหมือนกัน ก็เลยไปค้นต่อว่าจริงๆ แล้วเรากินได้ต่อวันได้เท่าไร มีรายงานบอกว่าเรา ADI (Acceptable Daily Intake) = 0-5 มิลลิกรัม/กิโลกกรัมน้ำหนักตัว/วัน
สารเบนโซอิกส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในรูปเกลือเบนโซเอต ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ โดยซึ่งมีผลต่อผนังเซลล์และเอนไซม์ของจุลินทรีย์โดยเบนโซเอตจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของอาหารเข้าไปในเซลล์ของจุลินทรีย์ผิดปกติไป ในขณะเดียวกันจะยับยั้งการสร้างเอนไซม์บางชนิดและปฏิกิริยาการทํางานของเอนไซม์ที่มีความสําคัญต่อการดํารงชีพของจุลินทรีย์ทําให็จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ซึ่งหากเราทานเกลือเบนโซอิกไปมากก็จะมีอาการอาจทําให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนปวดท้องท้องเสีย อาการเลือดตกในอัมพาตทําให้ประสิทธิภาพการทํางานของตับและไตลดลงหรืออาจส่งผลถึงขั้นพิการได้ และถ้าได้รับเกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจเสียชีวิตได้
เห็นแล้วก็น่ากลัวนะ เราต้องมองหาตรา อย. ก่อนการซื้อมากิน แต่ส่วนใหญ่เราก็ไม่เห็นซองบรรจุภัณฑ์กันใช่ไหม เพราะเขาแกะทอด ปิ้งให้เราเสร็จสับ อันนี้ก็ต้องป้องกันตัวเองให้มากขึ้นนะค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « อีโทนัส (สารเร่งสุก)
- ใหม่กว่า » ความดันไอ
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้