ความเห็น: 0
อาหารคลีน ดีอย่างไร ??
กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์การดูแลสุขภาพที่ได้รับความสนใจและพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ สำสหรับ Clean Food หลายๆ คนคงเคยได้ยินว่า มีคนรอบตัวหันมารับประทานอาหารคลีนกันมากขึ้น ได้เห็นการแปะป้าย Clean Food ตามหน้าเมนูต่างๆ ในหลายๆ ร้าน รวมถึงการแชร์สูตรอาหารคลีนให้ทดลองทำ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า Clean Food ที่เห็นกันนั้น เป็น Clean Food จริง? และสรุปว่า Clean Food ที่ว่านี่คืออะไรกันแน่?
อาหารคลีน (Clean Food) คืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆ หรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด และเป็นอาหารที่ปรุงสดจากวัตถุดิบที่ดี อาทิ
- เนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อยและให้โปรตีนสูง เช่น อกไก่ สันในไก่ เนื้อปลา เนื้อไม่ติดหนัง
- แป้งดีๆ จากธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง แป้งหรือขนมปังโฮลวีต แป้งข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ถั่วแดง ถั่วเหลือง ลูกเดือยต่างๆ
- นอกจากผักผลไม้สดต่างๆ แล้วยังรวมถึงสมุนไพรและผักที่ให้กลิ่นให้รสอย่างพริกไทย กระเทียม หัวหอม รากผักชี ปาปริก้า มาซาล่า อบเชย ฯลฯ
- น้ำมันที่มีค่าไขมันน้อย เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันงา เพื่อปรุง ผัด หมัก อบ แต่จะไม่ใช้ทอด
- เครื่องปรุงรสที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด เช่น น้ำผึ้ง น้ำปลา ซีอิ้ว
- นมจากธัญพืช เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นการกินอาหารคลีนต้องเริ่มต้นด้วยการไม่ยึดติดในรสชาติของอาหารแบบเดิมๆ ที่เคยรับประทาน เพราะการกินคลีน หรือกินอาหารคลีนนั้น รสชาติจะเป็นรอง แต่จะให้ความสำคัญกับตัวอาหารที่ไม่เน้นการปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เพื่อให้การกินอาหารคลีนได้รับประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย และผลพลอยได้ทำให้สุขภาพดีในระยะยาว ไม่เจ็บป่วยง่าย
อาหารคลีนดีอย่างไร?
จะเห็นได้ว่าอาหารคลีนเป็นอาหารที่ผ่านขั้นตอนการปรุงแต่งมาน้อย หรือไม่ผ่านการปรุงแต่งเลย เน้นธรรมชาติของอาหารนั้นๆ เป็นหลัก และอาหารคลีนยังมีสรรพคุณที่ดีสำหรับคนอ้วน คนที่มีน้ำหนักและไขมันมาก เพราะอาหารคลีนส่วนใหญ่จะผลิตมาจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงแต่งสังเคราะห์ หรือหากมีการปรุงแต่งก็เป็นการปรุงแต่งที่น้อยถึงน้อยที่สุด ซึ่งจะมีผลดีต่อคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ลดไขมัน และคนที่ใส่ใจกับสุขภาพของตนเอง เพราะปราศจากสารพิษหรือสารเจือปนต่างๆ
ข้อควรระวัง !!!
การปรุงอาหารแบบคลีนไม่ใช่การเน้นรับประทานผักเยอะๆ แต่เป็นการรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม คือ ต้องมีทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพียงแต่เนื้อสัตว์ที่ใช้ควรเลือกแบบที่ไม่ใช่สำเร็จรูปหรือผ่านการปรุงรสมาแล้ว
ที่มา : The Modern Living Magazine ปีที่ 36 ฉบับที่ 110 เดือนมกราคม-เมษายน 2558
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้