ความเห็น: 12
นี่สินะ..มุมมองของคนที่เค้าเรียกว่า "มืออาชีพ"
"อบรมถ่ายภาพแฟชั่น กับ ธาดา วาริช" แว๊บแรกที่เห็นกระทู้นี้ใน webboard แห่งหนึ่ง สิ่งที่คิดในหัวสมองคือ "ธาดา วาริช" นี่ใครกันนะ (จริงๆ ตั้งใจจะไปหากระทู้จับกล้องส่องบัณฑิต แล้วแอบไปเห็น 555)
สิ่งที่สงสัยต่อไปคือ ทำไมคนสมัครเข้ารับฟังเยอะจัง ต้องมีอะไรแน่ๆ เลย ค้นหาข้อมูลจากอากู๋นิดหน่อย ทำให้ทราบว่า คุณธาดา วาริช เป็นช่างภาพมืออาชีพด้านการถ่ายภาพแฟชั่น แถมยังเป็นช่างภาพมือหนึ่งของนิตยสาร Image
โอเค ก็น่าสนใจนะ ช่างภาพระดับนี้ มาทำไมกันที่นี่ ต้องมีอะไรสินะ ถึงมาได้ เลยลองสมัครเข้าร่วมอบรม (เกือบพลาดเข้าฟังงานนี้ เพราะการสื่อสารแบบขาดๆ เกินๆ ของตัวเอง แต่ในที่สุด ก็ได้ 1 ที่นั่ง สำหรับการร่วมฟังบรรยายในครั้งนี้แบบทุลักทุเลก็ว่าได้)
ทันทีที่เปิดตัว งานนี้ไม่ได้มาเฉพาะคุณธาดา วาริช (พี่จอร์จ) แต่มีผู้ช่วยช่างภาพอีก 1 คน (พี่เติ้ล ผู้ช่วยตากล้อง) ที่มาด้วยกัน
เริ่มต้นงานด้วยการแสดงภาพถ่ายจากฝีมือคุณธาดา ในงานหลากหลายประเภท ทั้งงานภายในสตูฯ และนอกสตูฯ รวมถึงมิวสิควิดีโอ เพลงทุ้มในใจ ของน้องเก้า
พี่จอร์จ (ขออนุญาตเรียกสั้นๆ พิมพ์ง่ายดี แหะๆ) เล่าให้ฟังว่า "ถ่ายในสตูฯ เราเซตทุกอย่างได้ แสง สี มุม อุปกรณ์ตัวช่วยต่างๆ แต่เวลาเราถ่ายนอกสตูฯ มันยากกว่า ตรงที่ เรากำหนดไม่ได้ ว่าวันนี้ขอแดดแรงๆ วันนี้ขอฝนตก หรืออากาศดี เราต้องจัดทุกอย่างให้ลงตัว ภายในเวลาอันรวดเร็วที่สุด"
พี่จอร์จ ย้ำกับพวกเราว่า ไม่ว่าคุณจะถ่ายภาพที่ไหน ในสตูฯ หรือนอกสตูฯ สิ่งสำคัญคือ "เวลา" คุณจะต้องเป๊ะ เพราะบางครั้ง นาง/นายแบบ หรือคนที่เราจะไปถ่ายภาพนั้น มีเวลาให้เราแค่นิดเดียว 2-5 นาที สำหรับเรา และที่เหลือสำหรับคนอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นคุณต้องพร้อม
หากถ่ายภาพไปแล้วรู้สึกว่าภาพนี้สวยแล้ว ก็ให้พอ และเตรียมถ่ายภาพถัดไป อย่าเสียเวลากับการถ่ายซ้ำๆ ตรงมุมเดิมจุดเดิม จนไม่ได้อะไร .. เสียเวลาเปล่าๆ
การถ่ายภาพ จะถ่ายที่ไหนก็ได้ ถ่ายตรงไหนก็ได้ กล้องไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพมากมายก็ถ่ายได้ คิดเล่นๆ ว่าคนร้อยคนในห้องเดียวกัน ทำยังไงให้เรามองเห็นมุมของภาพในมุมที่คนอื่นไม่เห็น
น้องๆ คนหนึ่งถามว่า "แล้วทำยังไงให้มองเห็นมุมที่แตกต่าง? "
พี่จอร์จ "ลองยืนถ่าย นั่งถ่าย นอนถ่าย ปีนขึ้นไปถ่าย เราก็จะเริ่มมองเห็นความแตกต่างของภาพถ่ายด้วยตัวเราเอง โดยที่ไม่มีใครสอน"
"การถ่ายภาพไม่มีเทคนิคที่ตายตัว การถ่ายภาพที่ดี..เริ่มต้นจากการมองเห็นในสิ่งที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ลองดูในสิ่งที่ตรงข้าม และการฝึกฝนทำได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่าพูดว่าคุณไม่มีเวลา ยกกล้องขึ้นมา กด 1 ครั้ง คุณก็ได้ภาพแล้ว"
คำถามถัดไป "พี่ครับ ภาพที่พี่ถ่าย มีการกำหนดไหมว่า ภาพลักษณะนี้ต้องตั้งค่ากล้องยังไงบ้าง ?"
พี่จอร์จ "ไม่มีครับ ไม่เคยจำว่าต้องตั้งค่าเท่าไหร่ การถ่ายภาพขึ้นอยู่กับการฝึกฝน เราถ่ายทุกวัน เราจะคิดได้เองว่าภาพที่เราอยากได้ประมาณนี้ เราจะตั้งค่าอะไร ไม่มีภาพไหนหรอกที่ถ่ายมาแล้วผิด แสงโอเวอร์เหรอ นั่นแหละคือบทเรียนชั้นยอดสำหรับคุณ"
คำถามถัดไป "เราเป็นช่างภาพ ต้องกำกับไหมว่าจะให้นางแบบโพสต์ท่าอะไร? "
พี่จอร์จ "นางแบบทุกคน ย่อมมีท่าโพสต์ของตัวเอง ปล่อยให้เค้ามีอิสระในการคิด อย่าไปบังคับให้เค้าเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เค้าเป็น เมื่อไหร่ที่เค้าเริ่มหมดท่า ค่อยๆ แจมไอเดีย และทำให้เค้ารู้สึกไม่เครียด เพื่อให้เค้าสามารถทำงานได้ต่อ อย่าฝืนใจใคร แล้วทุกอย่างจะออกมาธรรมชาติ และสวยงาม"
คำถามถัดไป "เคยถ่ายภาพแล้วนำมาตกแต่งด้วยโปรแกรม เช่น เร่งสี เร่งแสงบ้างรึเปล่า หรือมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ? "
พี่จอร์จ "สำหรับผม ภาพที่ดี มันต้องดีตั้งแต่เรากดชัตเตอร์ลงไป แสง สี เงา องค์ประกอบ ต้องเสร็จภายในนั้น น้อยมากที่จะนำมาตกแต่งเพิ่มเติมกับโปรแกรมต่างๆ ยกเว้นลอง crop ภาพบางส่วน บางมุม เพื่อลองดูความแตกต่าง"
คำถาม "ผมมีอุปกรณ์ทุกอย่าง แต่รู้สึกว่าถ่ายภาพยังไงก็ยังไม่สวย พี่มีข้อแนะนำไหมครับ ?"
พี่จอร์จ "ต่อให้เรามีอุปกรณ์ทุกอย่าง หากเราไม่รู้จักมัน ต่อให้ราคาเป็นหมื่น เป็นแสน มันก็ไร้ประโยชน์ ทำยังไงก็ได้ให้เรารู้จักกล้องของเรา รู้จักคุณสมบัติของอุปกรณ์ทุกชิ้นที่เรามี ทดสอบมันทุกอย่างที่มันทำได้ เรียนรู้ และทำความเข้าใจ แค่นั้นก็เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพดีๆ สักภาพ สรุปคือ จงทำความรู้จักในสิ่งที่เรามีให้ดี เรียนรู้ และเข้าใจ สำคัญที่สุด"
พี่เติ้ล ผู้ช่วยตากล้อง สำคัญยังไง?
พี่เติ้ลเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ต้องทำหลักๆ คือ จัดหาอุปกรณ์ และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับช่างภาพ ฟังดูเหมือนง่าย แต่ยากมาก ที่สำคัญต้องมีความรู้เรื่องต่างๆ ด้วย เช่น การเก็บรักษากล้อง อุปกรณ์ตัวไหนมีไว้ทำอะไรบ้าง งานไหนต้องใช้อะไรบ้าง แสงแค่ไหนถึงจะพอ สรุปว่า เหนื่อย 555
มีเนื้อหาสาระเยอะมาก บรรยายไม่หมด แต่ความรู้สึกหนึ่งผุดขึ้นมาในหัว "ถ้าไม่มาล่ะก็ คงเสียดาย"
ความรู้เรื่องกล้อง สำหรับตัวเองก็ไม่ได้ดีมากมายอะไร แต่สิ่งที่ได้ในวันนั้น มันมากกว่านั้น มันทำให้เรามานั่งถามตัวเองว่า วันนี้ อุปกรณ์ที่มีอยู่ในมือ เรารู้จักมันดีพอรึยัง หรือเราไม่รู้จักมันเลย ...
เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญสำหรับงาน ปัจจุบันมีกล้องลักษณะเป็น wireless ที่สามารถถ่ายภาพพร้อมๆ กับการส่งภาพไปยังคอมพิวเตอร์ตัวแม่ที่ใช้สำหรับเก็บงานได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสั่งกดชัตเตอร์ภาพ จาก Iphone หรือ Ipad ก็ได้ แถมยังสามารถสั่งพริ้นงาน ออกมาได้ด้วย (ไปๆ มาๆ วกกลับมาเรื่อง IT จนได้ 555)
การสัมภาษณ์พี่จอร์จในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกได้ว่า คนที่ถูกเรียกว่า "มืออาชีพ" หรือ "คนเก่งขั้นเทพ" นั้น ยิ่งเค้าถ่อมตัวและเป็นกันเองมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรามองเห็นคุณค่าใน "มืออาชีพ" ของเค้ามากขึ้นเท่านั้น...
ขอขอบคุณ
- Canon ที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้
- Pixgang ที่เปิดโอกาสให้ได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้
- พี่จอร์จ ธาดา วาริช ตากล้องระดับเทพ
- พี่เติ้ล ผู้ช่วยตากล้อง จัดแสงได้เยี่ยม
- น้องปราโมทย์ ที่ช่วยสร้างสีสรรค์ และช่วยให้รู้ว่า portrait (ไม่ใช่ขายหม้อนะครับ 55)
Other Posts By This Blogger
- Older « ศิลปะ ไม่มีวันตาย
ความเห็น
การถ่ายภาพสำคัญอยู่ที่ "มุมมอง" ตากล้องที่เก่งมักจะมีมุมมองที่แตกต่างจากช่างภาพปกติอย่างเราๆ รูปจึงออกมาสวยงาม
แอบปลื้มเล็กๆ ที่หลายอย่างเราใช้เทคนิคแบบมืออาชีพ โดยเฉพาะการ crop เพราะเราจะได้มุมและภาพในแบบที่ต้องการ
ว้าววววววววววววววววววว ขอเอาลิงคืหน้านี้ไปแปะไว้ใน Pixgang หน่อยนะคะ จะได้ให้คนอื่นๆ ที่ไมไ่ด้เข้ามาอบรม+คนที่เข้าอบรมแต่เก็บประเด็นไม่ครบมาอ่านกัน
ปล. เก่งมากเลายเก็บประเด็นได้เยอะมาก อุโยะเองนั่งฟังยังไงหว่า ไม่เห็นจะได้ครบแบบนี้เรย 555
@ คุณอุโยะจัง ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมค่ะ จริงๆ ก็นั่งฟังเรื่อยๆ ค่ะ ตอนแรกอัดเสียงไว้ แล้วกดผิด ยกเลิกการ save ไฟล์ มีผลทำให้มันไม่ save ไฟล์ให้ (กำจริงๆ) เลยต้องรีบเค้นมาจากตาตุ่มแล้วเขียนบันทึกก่อนที่จะลืมนี่ล่ะค่ะ ^_^ บางส่วนใครจำได้ ก็เพิ่มเติมได้นะคะ
![]() |
ชอบมากๆครับ....ขออนุญาติ ลิ้งค์เผยแพร่ต่อนะครับ
บางคนฝีมือการถ่ายสุดยอดมากๆ ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องราคาแพง ใช้กล้องคอมแพคธรรมดา!
แต่ของพี่บิวตี้ ได้แต่กดแฉะๆ เท่านั้นเอง.. กดแหลกที่มีพื้นที่ให้เก็บใน sd card ^^
30 August 2011 08:40
#68049
มีข้อคิดดี ๆ มากมายในบันทึกนี้
"ถ้าไม่อ่านล่ะก็ คงเสียดาย"