ความเห็น: 0
สงขลานครินทร์จัดงานมหกรรมจิตอาสาภาคใต้ ผนึกกำลังสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน
ศูนย์อาสาสมัคร กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จับมือ ภาคีเครือข่ายด้านจิตอาสา 9 องค์กร จัดงาน “มหกรรมจิตอาสาภาคใต้ ครั้งที่ 1” ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดย ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะ ร่วมกับองค์กรด้านส่งเสริมจิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต เครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคใต้ เครือข่ายนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และสื่อมวลชน รวมประมาณ 700 คน
ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะ ม.อ.กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกด้านจิตอาสาที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่กลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควรเริ่มต้นปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยรุ่นโดยบทบาทสำคัญคือ สถานศึกษาทั้งหลายที่ต้องกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความตระหนักรู้ถึงการช่วยเหลือสังคม เป็นการปลูกฝังค่านิยมในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง และเกิดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
วัตถุประสงค์ของการจัดมหกรรมจิตอาสา ครั้งนี้ก็เพื่อ 1.สร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในพื้นที่ภาคใต้ แก่นักศึกษาและบุคลากร 2.ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา ร่วมกับเครือข่ายองค์กรอาสาสมัครและชุมชน ในการพัฒนางานอาสาสมัครเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคใต้ 3.สื่อสารผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของภาคีเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ภาคใต้ ให้สังคมได้รับรู้มากยิ่งขึ้น
ศูนย์อาสาสมัคร กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยงการทำงานเพื่อสังคมของเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านจิตอาสา 9 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายจิตอาสา สงขลาฟอรั่ม มูลนิธิรากแก้ว มูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) ศูนย์อาสาสร้างสุขภาคใต้ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้และโครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดจัดกิจกรรม มหกรรมจิตอาสาภาคใต้ ครั้งที่ 1 ขึ้น
มีการเสวนาพิเศษเรื่อง “บทบาทของอาสาสมัครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย คุณนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานอาสาสมัคร โดยมีบุคคลสาธารณะที่โดดเด่นด้านจิตอาสา ตัวแทนนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานอาสาสมัครใน 8 ประเด็นได้แก่
ห้องย่อยที่ 1 แนวทางการจัดการภัยพิบัติภาคใต้ ดำเนินการโดย มูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมูลนิธิชุมชนสงขลา ห้องย่อยที่ 2 “ห้องเรียนชุมชนเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา” ดำเนินการโดย มูลนิธิรากแก้ว
ห้องย่อยที่ 3 ผู้ประกอบการทางสังคม ดำเนินการโดย ศูนย์อาสาสร้างสุขภาคใต้ ห้องย่อยที่ 4 โรงเรียนกับการส่งเสริมจิตอาสาระดับมัธยมศึกษาในภาคใต้ ดำเนินการโดย องค์การนักศึกษา ม.อ.
ห้องย่อยที่ 5 อาสา (ไม่) สมัครเล่น ดำเนินการโดย เครือข่ายจิตอาสา
ห้องย่อยที่ 6 พลังพลเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคใต้ ดำเนินการโดย สงขลาฟอรั่ม
ห้องย่อยที่ 7 กิจกรรมนักศึกษากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ดำเนินการโดย กองกิจการนักศึกษา ม.อ.
ห้องย่อยที่ 8 บัณฑิตอาสากับการพัฒนาภาคใต้ ดำเนินการโดย โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนางานอาสาสมัครของแต่ละประเด็นในพื้นที่ภาคใต้ให้มีคุณภาพมากขึ้น การจัดทำฐานข้อมูลนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่ต้องการเป็นอาสาสมัครร่วมกับนักศึกษา ม.อ. รวมทั้งฐานข้อมูลชุมชน สถานที่สาธารณะ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาสังคมที่แสดงความต้องการอาสาสมัคร และการเสวนาพิเศษ “เบื้องหลังความสำเร็จโครงการก้าวคนละก้าว” โดย คุณอิทธิพล สมุทรทอง อีกด้วย
มหกรรมจิตอาสาภาคใต้ ครั้งนี้ได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนางานอาสาสมัครของแต่ละประเด็นในพื้นที่ภาคใต้ให้มีคุณภาพมากขึ้น และจัดทำฐานข้อมูลนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่ต้องการเป็นอาสาสมัครร่วมกับนักศึกษา ม.อ. รวมทั้งฐานข้อมูลชุมชน สถานที่สาธารณะ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาสังคมที่แสดงความต้องการอาสาสมัคร
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « วันแห่งคุณค่าสงขลานครินทร์ ในวาร...
- ใหม่กว่า » ม.อ.จัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศา...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้