ความเห็น: 0
หน่วยระบาดวิทยา ม.สงขลานครินทร์ เสนอข้อมูลการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่บ้านอันเนื่องมาจากโรคระบาด
ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยานานาชาติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หน่วยระบาดวิทยา ได้ประชุมหารือเรื่องการทำงานที่บ้านเพื่อลดโอกาสการแพร่โรค COVID19 ตามที่นายแพทย์ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้รับผิดชอบการควบคุมโรคติดเชื้อและให้คำแนะนำกับทางคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือ ซึ่งหน่วยระบาดวิทยาได้นำเสนอ ผศ.นพ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แล้ว ดังนี้
การเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่บ้านอันเนื่องมาจากโรคระบาด ตอนที่ 1
“ยาแรง” เริ่มออกฤทธิ์ รัฐบาลสั่งปิดธุรกิจการค้าการบริการที่ไม่จำเป็น และให้บุคลากรในหน่วยงานของรัฐทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการเพิ่มระยะห่างทางสังคม social distancing
การเปลี่ยนผ่านนี้มีสามมิติเรียงตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อยที่จะต้องพิจารณา
มิติแรกซึ่งสำคัญที่สุดเป็นมิติทางกายภาพ คือ การป้องกันและการแพร่เชื้อ มาตรการที่ให้อยู่บ้านและออกจากบ้านน้อยที่สุดก็เพื่อลดการอยู่ใกล้กันของผู้คนทำให้เชื้อไม่สามารถแพร่จากคนหนึ่งสู่คนอื่นได้ แต่ในมิตินี้ยังมีรายละเอียดอย่างอื่นด้วย เช่น ห่างจากผู้คนกับอยู่แต่ในบ้าน อย่างไหนสำคัญและได้ผลกว่า ถ้าบ้านเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือ คนโสดอยู่คนเดียว ย่อมตัดการแพร่เชื้อได้ดีมาก แต่ถ้าบ้านเป็นครอบครัวขยาย จำนวนคนในครัวเรือนเดียวกันมีมาก หรือ คนอยู่กันหนาแน่น การแพร่เชื้อในบ้านก็ยังคงเป็นปัญหาได้ ในหวู่ฮั่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับเชื้อจากคนในครัวเรือนเดียวกัน รวมเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ติดเชื้อจากครอบครัวของตน ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะเขาควบคุมการติดเชื้อในชุมชนได้ดีก็เป็นได้
การที่ครอบครัวทั้งครอบครัวถูกจู่โจมจากเชื้อพร้อมกันเป็นปัญหามาก เพราะจำนวนคนในครอบครัวที่ยังแข็งแรงมีน้อย ถ้าไม่มีความช่วยเหลือจากภายนอก ครอบครัวจะอยู่ได้อย่างไร สังคมต้องช่วยกันคิดในเรื่องนี้ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะช่วยครอบครัวพวกนี้อย่างไร
การหยุดทำงานในที่ทำงาน ต้องไม่ใช่เพื่อลดความเสี่ยงของคนในที่ทำงานแล้วไปเพิ่มความเสี่ยงของคนในบ้าน หน่วยงานต้องให้พนักงานรายงานสุขภาพของตนทุกวัน และต้องให้รายงานสุขภาพของคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันด้วย ถ้าสงสัยว่าคนในบ้านของพนักงานอาจจะติดโรค ต้องให้พนักงานพักงานโดยไม่มาที่ทำงานเลย และหาทางช่วยเหลือครอบครัวของเขาด้วย
มิติเรื่องงาน
การเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่บ้านอันเนื่องมาจากโรคระบาด ตอนที่ 2
มิติที่สำคัญอันดับสองของการการเตรียมและการบริหารการทำงานที่บ้านของพนักงาน คือ การรักษาระดับ productivity
ต้องยอมรับว่างานหลายอย่างต้องการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้ร่วมงานซึ่งทำในที่ทำงานเดียวกันยอมดีกว่าทำคนละสถานที่และติดต่อผ่านเครือข่ายไอที แต่หน่วยงานต้องยอมเสียสละผลผลิตเพื่อความปลอดภัยของพนักงานและสังคมเรื่อง productivity จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับแรก
คนอยู่ในสำนักงานน้อย สำนักงานย่อมเป็นที่แพร่เชื้อได้น้อย แต่ประสิทธิภาพของงานก็คงจะลดลงไปมาก คนในสำนักงานต้องระดมสมองหาจุดที่เหมาะสม แล้วปรับสมดุลเป็นระยะ ๆ
ขั้นแรก ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยก่อนอื่นหมด กำหนดความหนาแน่นของจำนวนพนักงานและผู้มาติดต่อ ต่อพื้นที่ในสำนักงาน ไม่เฉพาะในห้องทำงานเท่านั้น แต่รวมถึง โรงอาหาร ทางเดิน ลิฟท์ ห้องน้ำ ฯลฯ กล่าวกันว่าระยะห่างเฉลี่ย 2 เมตร และอยู่กันโดยมีฝากั้นน่าจะพอรับได้ นอกจากความหนาแน่นแล้ว ระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน ยิ่งนานยิ่งเพิ่มความเสี่ยง
ขั้นที่สอง กำหนดงานและคนบางคนที่มีความจำเป็นต้องอยู่ตลอด สลับเวรไม่ได้ เช่น พนักงานไอทีซึ่งมีคนเดียว และพนักงานที่จำเป็นต้องอยู่ในที่ทำงานน้อยมาก เช่น มาที่ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละครั้ง ที่เหลือเป็นพนักงานที่ต้องมาทำงานในระดับกลาง ๆ ซึ่งอาจจะเอาเอกสารไปทำงานที่บ้านแล้วนำกลับมาสำนักงานวันละครั้ง เป็นต้น รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ความหนาแน่นของพนักงานต่อพื้นที่ก็ต้องไม่เกินข้อตกลงในข้อแรก
โดยธรรมชาติของจิตวิทยา หัวหน้างานที่ขยันมักจะบอกว่าตนต้องอยู่ตลอดเพื่อแก้ไขปัญหา หัวหน้าที่บริหารเก่งต้องสามารถวางระบบที่ทำให้คนอื่นไม่ต้องขึ้นกับการอยู่ในที่ทำงานของตนมากนัก
ขั้นต่อไป คือ ระบบอำนวยความสะดวก เช่น อินเตอร์เน็ต ซอฟแวร์ทำหรับการติดต่อ ประชุม คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
สุดท้าย คือ การติดตามความก้าวหน้าของงาน ต้องมีการประชุมสม่ำเสมอเพื่อประเมินผลการทำงานและหาทางปรับให้ทำงานได้ดีขึ้นท่ามกลางข้อจำกัด และที่สำคัญ ต้องติดตามสุขภาพของพนักงาน ทั้งสุขภาพกาย(โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคระบาด) และสุขภาพจิต และสังคม ซึ่งเป็นมิติที่สาม
การเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่บ้านอันเนื่องมาจากโรคระบาด ตอนที่ 3
มิติที่สาม อันเป็นมิติสุดท้าย คือ การอยู่ดีมีสุข (well being) ของพนักงาน
เมื่อพยายามปลอดภัยจากโรคระบาดและพยายามทำงานได้ดีพอสมควรแล้ว คุณภาพชีวิตต้องไม่เลวจนเกินไป
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สำนักงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนจำนวนมาก คนทำงานส่วนหนึ่งมีเวลาปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนทีทำงานมากกว่าคนในครอบครัว ยิ่งพนักงานโสดเพื่อนร่วมงานจะมีความสำคัญมาก ชีวิตที่ได้มาที่ทำงานจึงเป็นชีวิตที่มีความหมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ
พนักงานทำงานอยู่บ้านโดยปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันน้อย ผลงานก็จะอ่อนลง ระบบงานต้องดำรงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานภายใต้เงื่อนไขการทำงานที่บ้านให้ดี
จะสัมพันธ์กันได้ ระบบสื่อสารต้องดี เร็วทันใจ สะดวก ไม่ติดขัด การมีทีมไอทีที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ต้องมีการประชุมทางไกลให้กำลังใจบ่อยกว่าการทำงานในระบบปรกติ
ต้องมีการถามสารทุกข์สุกดิบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ถ้ามีการให้ความบันเทิง เช่น ออกกำลังกายช่วงสั้น ๆ ร่วมกันทางไกลวันละ 1-2 ครั้ง พักกินข้าวพร้อมกัน น่าจะทำให้หายเหงาลงได้บ้าง
สรุปสามมิติของการทำงานที่บ้าน ความปลอดภัยของพนักงานและสังคมภายนอกให้พ้นจากโรคระบาดเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ผลงานต้องไม่ตกมากสำคัญอันดับสอง และ พนักงานต้องมีชีวิตประจำวันที่ดีเป็นอันดับสาม
ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ กล่าวปิดท้ายว่า “ลองคิดดูและดัดแปลงทำไปสักพักแล้วมาแลกเปลี่ยนบทเรียนกันครับ”
https://www.youtube.com/watch?v=TfFUOp3-mcA
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ม.อ. ร่วมจัดนิทรรศการรับเสด็จสมเ...
- ใหม่กว่า » ม.สงขลานครินทร์ ร่วมสร้างมูลค่าเ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้